แนวทางปฏิบัติแนะนําสําหรับ SEO ของวิดีโอ

วิดีโอเป็นรูปแบบที่กำลังเติบโตสำหรับการสร้างและการใช้เนื้อหาบนเว็บ และ Google จะจัดทำดัชนีวิดีโอจากเว็บไซต์ต่างๆ หลายล้านแห่งเพื่อบริการผู้ใช้ วิดีโอจะปรากฏในหลายๆ ที่บน Google ซึ่งรวมถึงหน้าผลการค้นหาหลัก, โหมดวิดีโอ, Google รูปภาพ และ Discover ดังนี้

ภาพหน้าจอที่แสดงเนื้อหาวิดีโอในผลการค้นหาของ Google, แท็บวิดีโอ และ Discover

เพิ่มประสิทธิภาพให้วิดีโอของคุณปรากฏใน Google โดยทําตามแนวทางปฏิบัติแนะนำต่อไปนี้

  1. ช่วยให้ Google ค้นพบวิดีโอของคุณ
  2. ตรวจสอบว่าวิดีโอของคุณสามารถจัดทำดัชนีได้
  3. อนุญาตให้ Google ดึงข้อมูลไฟล์เนื้อหาวิดีโอ
  4. เปิดใช้ฟีเจอร์เฉพาะของวิดีโอ
  5. นำออก จำกัด หรืออัปเดตวิดีโอเมื่อจำเป็น

ช่วยให้ Google ค้นพบวิดีโอของคุณ

  • ตรวจสอบว่าวิดีโอแต่ละรายการพร้อมใช้งานในหน้าเว็บสาธารณะที่ผู้ใช้สามารถดูวิดีโอได้ ตรวจสอบว่าหน้าเว็บไม่ได้ถูก robots.txt หรือแท็ก meta noindex ของ robots บล็อกไว้ เพื่อให้ Google ค้นพบและจัดทําดัชนีหน้าเว็บของคุณได้
  • หากต้องการให้วิดีโอมีการเข้าชมสูงสุด ให้สร้างหน้าสําหรับวิดีโอแต่ละรายการโดยเฉพาะ โดยให้วิดีโอเป็นจุดสนใจหลักของหน้า ผลการค้นหาวิดีโอส่วนใหญ่ต้องมีหน้าวิดีโอประเภทดังกล่าว ซึ่งรวมถึงฟีเจอร์ต่างๆ เช่น ช่วงสำคัญ ป้าย "สด" และผลการค้นหาที่เป็นริชมีเดียรูปแบบอื่นๆ คุณจะใส่วิดีโอเดียวกันนี้ทั้งในหน้าสำหรับวิดีโอนี้โดยเฉพาะและในหน้าต้นฉบับ ควบคู่กับข้อมูลอื่นๆ เช่น บทความข่าวหรือหน้ารายละเอียดผลิตภัณฑ์ด้วยก็ได้

    หน้าเว็บที่มีวิดีโอเป็นเนื้อหาหลักในหน้า
  • รวมวิดีโอไว้ในแท็ก HTML ที่เหมาะสม Google จะระบุวิดีโอในหน้าเว็บของคุณได้ง่ายขึ้นเมื่อมีแท็ก HTML อยู่ด้วย เช่น <video>, <embed>, <iframe> หรือ <object>
  • สร้าง Sitemap สำหรับวิดีโอเพื่อให้ Google พบวิดีโอของคุณได้ง่ายขึ้น ดูวิธีส่ง Sitemap ไปยัง Google
  • โปรดตรวจสอบว่าหน้าเว็บไม่ได้กำหนดให้ต้องมีการดำเนินการอย่างซับซ้อนจากผู้ใช้หรือต้องใส่ส่วนย่อยที่เฉพาะเจาะจงของ URL จึงจะโหลดหน้าได้ เนื่องจาก Google อาจไม่พบหน้าดังกล่าว
    • อย่าโหลดเนื้อหาหลักแบบ Lazy Loading เมื่อผู้ใช้โต้ตอบ Google อาจไม่พบเนื้อหาที่จำเป็นต้องมีการโต้ตอบของผู้ใช้จึงจะโหลดได้ (เช่น การปัด การคลิก หรือการพิมพ์) ตรวจสอบว่า Google มองเห็นเนื้อหาที่โหลดแบบ Lazy Loading ได้
    • หากคุณใช้ JavaScript ที่ซับซ้อนเกินไปเพื่อฝังออบเจ็กต์วิดีโอจากภายใน JavaScript เฉพาะภายใต้สถานการณ์บางอย่างเท่านั้น ก็อาจทำให้ Google จัดทำดัชนีวิดีโอของคุณได้ไม่ถูกต้อง
    • ระบบไม่รองรับ URL ของเนื้อหาหรือหน้า Landing Page ที่ต้องใช้ตัวระบุส่วนย่อย
    • โปรดตรวจสอบว่าวิดีโอมองเห็นได้และค้นพบได้ง่ายในหน้าวิดีโอ เราขอแนะนำให้ใช้หน้าเว็บที่ทำงานทั้งหมดในตัวเองสำหรับวิดีโอแต่ละรายการ โดยมีชื่อหรือคำอธิบายที่สื่อความหมายและไม่ซ้ำสำหรับวิดีโอแต่ละรายการ ตรวจสอบว่าวิดีโอเป็นเนื้อหาสำคัญของหน้าและไม่ได้ซ่อนไว้หรือหาเจอได้ยาก

โปรแกรมเล่นแบบฝังของบุคคลที่สาม

หากเว็บไซต์ของคุณฝังวิดีโอจากแพลตฟอร์มของบุคคลที่สาม (เช่น YouTube, Vimeo หรือ Facebook) Google อาจจัดทำดัชนีวิดีโอนั้นทั้งในหน้าเว็บของคุณและในหน้าเว็บที่เทียบเท่ากันจากเว็บไซต์โฮสติ้งของบุคคลที่สาม ทั้ง 2 เวอร์ชันอาจปรากฏในฟีเจอร์วิดีโอบน Google

สำหรับหน้าเว็บที่ฝังโปรแกรมเล่นของบุคคลที่สามไว้ คุณยังควรให้ Structured Data และจะรวมหน้าเหล่านี้ใน Sitemap สำหรับวิดีโอด้วยก็ได้ ตรวจสอบว่าโฮสต์วิดีโอของคุณอนุญาตให้ Google ดึงข้อมูลไฟล์เนื้อหาวิดีโอของคุณได้ ตัวอย่างเช่น รองรับโดย YouTube สำหรับวิดีโอสาธารณะ

ตรวจสอบว่าวิดีโอของคุณสามารถจัดทำดัชนีได้

เมื่อระบุวิดีโอในหน้าเว็บได้แล้ว Google ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้วิดีโอปรากฏในผลการค้นหาวิดีโอ

ให้ภาพปกวิดีโอคุณภาพสูง

วิดีโอต้องมีภาพขนาดย่อที่ถูกต้องจึงจะมีสิทธิ์ปรากฏในผลการค้นหาวิดีโอใน Google Search หากไม่มี หน้าเว็บอาจได้รับการจัดทําดัชนีแต่จะปรากฏเป็นผลการค้นหาแบบข้อความเท่านั้น

คุณอาจอนุญาตให้ Google สร้างภาพขนาดย่อหรือจะจัดภาพมาให้ก็ได้ โดยใช้วิธีที่รองรับอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

รูปแบบภาพขนาดย่อที่รองรับ: BMP, GIF, JPEG, PNG, WebP และ SVG

ขนาด: ขั้นต่ำ 60 x 30 พิกเซล แนะนำให้ใช้ขนาดที่ใหญ่กว่า

ตำแหน่ง: Googlebot ต้องเข้าถึงไฟล์ภาพขนาดย่อได้ อย่าบล็อกไฟล์ด้วย robots.txt หรือข้อกำหนดการเข้าสู่ระบบ ตรวจสอบว่าไฟล์พร้อมใช้งานใน URL แบบคงที่

ความโปร่งใส: พิกเซลของภาพขนาดย่ออย่างน้อย 80% ต้องมีค่าอัลฟ่า (ความโปร่งใส) มากกว่า 250

ให้ Structured Data

ให้ Structured Data ซึ่งอธิบายวิดีโอเพื่อช่วยให้ Google ทราบว่าวิดีโอเกี่ยวกับอะไรและแสดงวิดีโอนั้นสำหรับคำค้นหาที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบว่าข้อมูลที่คุณให้ไว้ใน Structured Data นั้นสอดคล้องกับเนื้อหาวิดีโอจริง เมื่อเพิ่ม Structured Data ให้ตรวจสอบว่าได้ใช้ภาพขนาดย่อ ชื่อ และคําอธิบายที่ไม่ซ้ำกันสําหรับวิดีโอแต่ละรายการในเว็บไซต์ คุณควรระบุชื่อ, URL ของภาพขนาดย่อ และ URL วิดีโอเดียวกันในทุกแหล่งที่มา (Sitemap, แท็ก HTML, metaแท็ก และ Structured Data) ซึ่งอธิบายวิดีโอเดียวกันในหน้าเดียวกัน

อนุญาตให้ Google ดึงข้อมูลไฟล์เนื้อหาวิดีโอ

หน้าวิดีโออาจได้รับการจัดทำดัชนีและมีสิทธิ์แสดงใน Google แต่ Google จำเป็นต้องดึงข้อมูลไฟล์วิดีโอเองเพื่อให้เข้าใจเนื้อหาวิดีโอและเปิดใช้ฟีเจอร์ต่างๆ อย่างเช่นการแสดงตัวอย่างวิดีโอและช่วงสำคัญ

อนุญาตให้ Google ดึงข้อมูลไฟล์เนื้อหาวิดีโอโดยทำตามแนวทางปฏิบัติแนะนำต่อไปนี้

  • ใช้ Structured Data เพื่อระบุค่า contentURL ในรูปแบบไฟล์ที่รองรับ
  • อย่าบล็อก Google ไม่ให้ดึงข้อมูลไบต์ของไฟล์สตรีมมิงจากวิดีโอ ตัวอย่างเช่น อย่าบล็อก URL หรือโดเมนของเนื้อหาวิดีโอที่มีแท็ก noindex หรือไฟล์ robots.txt
  • หน้าเว็บที่โฮสต์วิดีโอและเซิร์ฟเวอร์ที่สตรีมวิดีโอจริงต้องเตรียมแบนด์วิดท์ไว้สำหรับทำการ Crawl ดังนั้น หากหน้า Landing Page ของคุณที่ example.com/puppies.html มีวิดีโอลูกสุนัขฝังอยู่ซึ่งมาจาก somestreamingservice.com Google ต้องเข้าถึงทั้ง example.com และ somestreamingservice.com ได้ และมีการโหลดเซิร์ฟเวอร์ที่พร้อมใช้งาน
  • ไฟล์วิดีโอต้องพร้อมใช้งานใน URL แบบคงที่

การเข้ารหัสวิดีโอที่รองรับ

Google ดึงข้อมูลไฟล์วิดีโอประเภทต่อไปนี้ได้ 3GP, 3G2, ASF, AVI, DivX, M2V, M3U, M3U8, M4V, MKV, MOV, MP4, MPEG, OGV, QVT, RAM, RM, VOB, WebM, WMV, และ XAP

ใช้ URL แบบคงที่สำหรับไฟล์วิดีโอและภาพขนาดย่อ

CDN บางแห่งใช้ URL ที่หมดอายุเร็วสำหรับไฟล์วิดีโอและภาพขนาดย่อ URL เหล่านี้อาจทำให้ Google จัดทำดัชนีวิดีโอหรือดึงข้อมูลไฟล์วิดีโอไม่สำเร็จ และ Google จะทำความเข้าใจความสนใจของผู้ใช้ที่มีต่อวิดีโอของคุณเมื่อเวลาผ่านไปได้ยากขึ้นด้วย

ใช้ URL ที่ไม่ซ้ำกันและเป็นแบบคงที่สำหรับวิดีโอแต่ละรายการ วิธีนี้ช่วยให้ Google ค้นพบและประมวลผลวิดีโอได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงยืนยันว่าวิดีโอยังคงมีอยู่และรวบรวมข้อมูลสัญญาณที่ถูกต้องของวิดีโอ

หากกังวลว่าจะมีผู้ไม่ประสงค์ดี (อย่างเช่นแฮ็กเกอร์หรือนักส่งสแปม) เข้าถึงเนื้อหา คุณยืนยัน Googlebot ได้ก่อนที่จะแสดง URL เวอร์ชันเสถียรของสื่อ เช่น เลือกแสดงพร็อพเพอร์ตี้ contentUrl แก่บ็อตที่เชื่อถือได้เท่านั้นอย่าง Googlebot ส่วนไคลเอ็นต์อื่นๆ ที่เข้าถึงหน้าเว็บจะไม่เห็นฟิลด์ดังกล่าว การตั้งค่านี้ทำให้มีเฉพาะไคลเอ็นต์ที่เชื่อถือได้เท่านั้นที่เข้าถึงตำแหน่งของไฟล์เนื้อหาวิดีโอได้

URL ไหนคืออันไหน

มี URL หลายรายการที่เชื่อมโยงกับไฟล์วิดีโอในหน้าเว็บได้ ซึ่งจะสรุปเกี่ยวกับ URL ส่วนใหญ่ได้ดังนี้

แผนภาพของ URL ในหน้าวิดีโอ
  1. URL ของหน้าเว็บที่โฮสต์วิดีโอ ซึ่งคุณระบุได้โดยใช้แท็ก Sitemap สำหรับวิดีโอ <loc>
  2. URL ของโปรแกรมเล่นที่กำหนดเอง ซึ่งมักเป็นค่า src สำหรับแท็ก <iframe> หรือ <embed> ในหน้าเว็บ แท็กที่เป็นไปได้ ได้แก่ VideoObject.embedUrl (Structured Data), <video:player_loc> (แท็ก Sitemap สำหรับวิดีโอ), <iframe src="...">
  3. URL ของไบต์ข้อมูลจริงในเนื้อหา ทั้งบนเว็บไซต์ในเครื่องหรือในบริการสตรีมมิง แท็กที่เป็นไปได้มีดังนี้
    • <video src="..."> (แท็ก HTML)
    • <embed src="..."> (แท็ก HTML)
    • <video:content_loc> (แท็ก Sitemap สำหรับวิดีโอ)
    • VideoObject.contentUrl (Structured Data)

เปิดใช้ฟีเจอร์เฉพาะของวิดีโอ

ตัวอย่างวิดีโอ

ตัวอย่างวิดีโอในผลการค้นหา

Google จะเลือกช่วงจากวิดีโอมา 2-3 วินาทีเพื่อแสดงตัวอย่างเป็นภาพเคลื่อนไหว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้เข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่จะได้ดูในวิดีโอ หากต้องการให้วิดีโอของคุณมีสิทธิ์ใช้ฟีเจอร์นี้ ให้อนุญาต Google ดึงข้อมูลไฟล์เนื้อหาวิดีโอของคุณ คุณกำหนดระยะเวลาสูงสุดสําหรับตัวอย่างวิดีโอเหล่านี้ได้โดยใช้แท็ก meta max-video-preview ของ robots

ช่วงสำคัญ

วิดีโอที่มีช่วงเวลาสำคัญในผลการค้นหา

ฟีเจอร์ช่วงสำคัญเป็นวิธีหนึ่งในการไปยังส่วนต่างๆ ของวิดีโอที่คล้ายกับบทในหนังสือ โดยจะช่วยให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมกับเนื้อหาของคุณได้อย่างลึกซึ้งขึ้น Google Search พยายามตรวจหาส่วนดังกล่าวในวิดีโอโดยอัตโนมัติและแสดงช่วงสำคัญแก่ผู้ใช้โดยที่คุณไม่ต้องดำเนินการใดๆ หรือคุณจะบอกให้ Google ทราบถึงจุดสําคัญในวิดีโอด้วยตัวเองก็ได้ เราจะจัดลำดับความสำคัญของช่วงสำคัญที่คุณกำหนดไว้ ไม่ว่าจะผ่านทางข้อมูลที่มีโครงสร้างหรือคำอธิบายใน YouTube

  • หากวิดีโอโฮสต์อยู่ในหน้าเว็บ คุณเปิดใช้ช่วงสำคัญได้ 2 วิธี ดังนี้
    • ข้อมูลที่มีโครงสร้าง Clip: ระบุจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดที่แน่นอนของแต่ละส่วน รวมทั้งระบุป้ายกำกับที่จะแสดงสำหรับแต่ละส่วน โดยรองรับทุกภาษาที่ Google Search พร้อมให้บริการ
    • Structured Data SeekToAction: บอก Google ว่าการประทับเวลามักอยู่ในโครงสร้าง URL เพื่อให้ Google สามารถระบุช่วงสำคัญได้โดยอัตโนมัติและลิงก์ผู้ใช้ไปยังจุดเหล่านั้นในวิดีโอ ปัจจุบันฟีเจอร์นี้รองรับภาษาอังกฤษ สเปน โปรตุเกส อิตาลี จีน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมัน ตุรกี เกาหลี ดัตช์ และรัสเซีย โดยเรามุ่งมั่นที่จะขยายฟีเจอร์ไปยังภาษาอื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคต แม้ในภาษาที่รองรับ วิดีโอบางรายการอาจไม่ได้ระบุช่วงสําคัญไว้ แต่เราก็มุ่งมั่นที่จะปรับปรุงสำหรับกรณีนี้ต่อไปด้วยเช่นกัน
  • หากวิดีโอโฮสต์ใน YouTube คุณจะระบุการประทับเวลาและป้ายกํากับที่แน่นอนได้ในคําอธิบายวิดีโอบน YouTube ดูแนวทางปฏิบัติแนะนำในการมาร์กการประทับเวลาในคำอธิบายของ YouTube โดยรองรับทุกภาษาที่ Google Search พร้อมให้บริการ

    หากต้องการเปิดใช้ส่วนเนื้อหาในวิดีโอบน YouTube ให้ทําตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเหล่านี้

หากต้องการเลือกไม่ใช้ฟีเจอร์ช่วงสําคัญโดยสิ้นเชิง (รวมถึงการดำเนินการใดก็ตามที่ Google อาจทำเพื่อแสดงช่วงสําคัญให้วิดีโอของคุณโดยอัตโนมัติ) ให้ใช้แท็ก meta nosnippet

ป้าย "สด"

วิดีโอที่มีป้าย &quot;สด&quot; ในผลการค้นหา

สำหรับวิดีโอสตรีมมิงแบบสด คุณสามารถเปิดใช้ป้าย "สด" สีแดงให้ปรากฏในผลการค้นหาได้โดยใช้ BroadcastEvent Structured Data และ Indexing API

นำออกหรือจำกัดวิดีโอ

นำวิดีโอออก

หากต้องการนําวิดีโอออกจากเว็บไซต์ของคุณ ให้ทําอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

  • แสดงรหัสสถานะ HTTP 404 (Not found) สำหรับหน้า Landing Page ที่มีวิดีโอที่ถูกนำออกหรือหมดอายุแล้ว นอกจากโค้ดตอบกลับ 404 แล้ว คุณยังคงแสดง HTML ของหน้าเว็บได้ตามปกติ ซึ่งทำให้ผู้ใช้ส่วนใหญ่ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
  • ใส่เมตาแท็ก robots noindex ไว้ในหน้า Landing Page ทุกหน้าที่มีวิดีโอที่ถูกนำออกหรือหมดอายุแล้ว ซึ่งจะป้องกันไม่ให้มีการจัดทำดัชนีหน้า Landing Page เหล่านั้น
  • ระบุวันที่หมดอายุใน Structured Data ของ schema.org (พร็อพเพอร์ตี้ expires) หรือ Sitemap สำหรับวิดีโอ (ใช้เอลิเมนต์ <video:expiration_date>) ตัวอย่าง Sitemap สำหรับวิดีโอที่มีวิดีโอหมดอายุในเดือนพฤศจิกายน 2009 มีดังนี้
    <urlset xmlns="http://www.sitemaps.org/schemas/sitemap/0.9"
        xmlns:video="http://www.google.com/schemas/sitemap-video/1.1">
    <url>
    <loc>https://www.example.com/videos/some_video_landing_page.html</loc>
    <video:video>
      <video:thumbnail_loc>
          https://www.example.com/thumbs/123.jpg
      </video:thumbnail_loc>
      <video:title>
          Grilling steaks for summer
      </video:title>
      <video:description>
          Bob shows you how to grill steaks perfectly every time
      </video:description>
      <video:player_loc>
          https://www.example.com/videoplayer?video=123
      </video:player_loc>
      <video:expiration_date>2009-11-05T19:20:30+08:00</video:expiration_date>
    </video:video>
    </url>
    </urlset>

เมื่อ Google พบวิดีโอที่วันที่หมดอายุเป็นวันในอดีต เราจะไม่รวมวิดีโอนั้นไว้ในผลการค้นหาใดๆ เลย หน้า Landing Page อาจยังคงแสดงในผลการค้นหาบนเว็บโดยไม่มีภาพขนาดย่อของวิดีโอ วันที่ดังกล่าวรวมถึงวันที่หมดอายุจาก Sitemap, Structured Data และแท็ก meta ในส่วนหัวของเว็บไซต์ โปรดตรวจสอบว่าวันที่หมดอายุของวิดีโอแต่ละรายการถูกต้อง แม้ว่าการกำหนดให้วิดีโอใช้งานไม่ได้หลังจากวันที่หมดอายุแล้วจะมีประโยชน์ แต่ก็อาจมีการตั้งวันที่อย่างผิดพลาดเป็นวันที่ในอดีตได้ง่ายๆ ทำให้วิดีโอที่ควรจะใช้งานได้กลับใช้ไม่ได้ หากวิดีโอไม่มีวันหมดอายุ ก็อย่าใส่ข้อมูลวันหมดอายุ

จํากัดวิดีโอตามประเทศของผู้ใช้

คุณจำกัดผลการค้นหาสำหรับวิดีโอโดยอิงตามประเทศของผู้ใช้ได้ หากวิดีโอไม่มีข้อจํากัดเกี่ยวกับประเทศ ให้ข้ามแท็กข้อจํากัดประเทศไปได้

จำกัดการใช้ Structured Data

หากคุณใช้ VideoObject Structured Data เพื่ออธิบายวิดีโอ ให้ตั้งค่าพร็อพเพอร์ตี้ regionsAllowed เพื่อระบุภูมิภาคที่จะแสดงผลการค้นหาวิดีโอ หากคุณไม่ใช้พร็อพเพอร์ตี้นี้ ทุกภูมิภาคจะเห็นวิดีโอในผลการค้นหาได้

จำกัดการใช้ Sitemap สำหรับวิดีโอ

ใน Sitemap สำหรับวิดีโอ คุณใช้แท็ก <video:restriction> เพื่ออนุญาตหรือปฏิเสธไม่ให้วิดีโอปรากฏในบางประเทศได้ วิดีโอ 1 รายการจะมีแท็ก <video:restriction> ได้เพียง 1 แท็กเท่านั้น

แท็ก <video:restriction> ต้องมีรหัสประเทศตาม ISO 3166 อย่างน้อย 1 รหัสโดยคั่นด้วยเว้นวรรค แอตทริบิวต์ relationship ที่จำเป็นจะระบุประเภทของข้อจำกัด

  • relationship="allow": วิดีโอจะปรากฏเฉพาะในประเทศที่ระบุ หากไม่ระบุประเทศ วิดีโอจะไม่ปรากฏที่ใดเลย
  • relationship="deny": วิดีโอจะปรากฏทุกที่ยกเว้นในประเทศที่ระบุไว้ หากไม่ระบุประเทศ วิดีโอจะปรากฏทุกที่

ในตัวอย่างแผนผังเว็บไซต์วิดีโอนี้ วิดีโอจะปรากฏในผลการค้นหาในแคนาดาและเม็กซิโกเท่านั้น

<url>
<loc>https://www.example.com/videos/some_video_landing_page.html</loc>
<video:video>
<video:thumbnail_loc>
        https://www.example.com/thumbs/123.jpg
</video:thumbnail_loc>
<video:title>Grilling steaks for summer</video:title>
<video:description>
    Bob shows you how to get perfectly done steaks every time
</video:description>
<video:player_loc>
      https://www.example.com/player?video=123
</video:player_loc>
<video:restriction relationship="allow">ca mx</video:restriction>
</video:video>
</url>

ฟีเจอร์ค้นหาปลอดภัยคือการตั้งค่าในบัญชีผู้ใช้ Google ที่จะเป็นตัวกำหนดว่าจะแสดงหรือบล็อกรูปภาพ วิดีโอ และเว็บไซต์ที่อาจไม่เหมาะสมในผลการค้นหาของ Google Search โปรดตรวจสอบว่า Google เข้าใจลักษณะของเว็บไซต์เพื่อให้ Google ใช้ตัวกรองฟีเจอร์ค้นหาปลอดภัยกับเว็บไซต์ได้ตามความเหมาะสม ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการติดป้ายกำกับหน้าฟีเจอร์ค้นหาปลอดภัย