แท็ก meta และแอตทริบิวต์ที่ Google รองรับ

หน้านี้จะอธิบายว่าแท็ก meta คืออะไร แท็ก meta และแอตทริบิวต์ HTML ที่ Google รองรับเพื่อควบคุมการจัดทําดัชนี และประเด็นสําคัญอื่นๆ ที่ควรทราบเมื่อนําแท็ก meta ไปใช้ในเว็บไซต์

แท็ก meta

แท็ก meta คือแท็ก HTML ที่ใช้เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหน้าเว็บแก่เครื่องมือค้นหาและไคลเอ็นต์อื่นๆ ไคลเอ็นต์จะประมวลผลแท็ก meta และไม่สนใจแท็กที่ไม่รองรับ แท็ก meta จะเพิ่มลงในส่วน <head> ของหน้า HTML และโดยทั่วไปจะมีลักษณะดังนี้

<!DOCTYPE html>
<html>
<head>
<meta charset="utf-8">
<meta name="description" content="Author: A.N. Author, Illustrator: P. Picture, Category: Books, Price:  £9.24, Length: 784 pages">
<meta name="google-site-verification" content="+nxGUDJ4QpAZ5l9Bsjdi102tLVC21AIh5d1Nl23908vVuFHs34=">
<title>Example Books - high-quality used books for children</title>
<meta name="robots" content="noindex,nofollow">
</head>
</html>

Google รองรับแท็ก meta ต่อไปนี้

รายการแท็ก meta ที่ Google รองรับ

<meta name="description" content="A description of the page">

ใช้แท็กนี้เพื่อระบุคำอธิบายสั้นๆ ของหน้าเว็บ ในบางสถานการณ์ คำอธิบายนี้จะใช้ในตัวอย่างที่แสดงในผลการค้นหา

<meta name="robots" content="..., ...">

<meta name="googlebot" content="..., ...">

เมตาแท็ก meta เหล่านี้จะควบคุมลักษณะการทำงานในการ Crawl และการจัดทำดัชนีของเครื่องมือค้นหา

แท็ก <meta name="robots" ... ใช้กับเครื่องมือค้นหาทั้งหมด ส่วนแท็ก <meta name="googlebot ... ใช้กับ Google เท่านั้น

ในกรณีที่ robots (หรือ googlebot) meta มีความขัดแย้งกัน จะมีการใช้แท็กที่จำกัดมากกว่า เช่น หากหน้าเว็บมีทั้งแท็ก max-snippet:50 และแท็ก nosnippet ระบบจะใช้แท็ก nosnippet

ค่าเริ่มต้นคือ index, follow และไม่จําเป็นต้องมีการระบุ โปรดดูรายการค่าทั้งหมดที่ Google รองรับได้ในรายการกฎที่ถูกต้อง

นอกจากนี้คุณยังระบุข้อมูลนี้ในส่วนหัวของหน้าได้โดยใช้กฎส่วนหัว X-Robots-Tag HTTP ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากคุณต้องการจำกัดการจัดทำดัชนีของไฟล์ที่ไม่ใช่ HTML เช่น กราฟิก หรือเอกสารประเภทอื่นๆ ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแท็ก meta ของ robots

<meta name="google" content="nositelinkssearchbox">

เมื่อผู้ใช้ค้นหาเว็บไซต์ของคุณ บางครั้งผลการค้นหาของ Google Search จะแสดงช่องค้นหาเฉพาะสำหรับเว็บไซต์นั้น พร้อมด้วยลิงก์อื่นๆ ที่ไปยังเว็บไซต์นั้นโดยตรง แท็กนี้จะบอก Google ว่าไม่ต้องแสดงช่องค้นหาไซต์ลิงก์ดังกล่าว ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับช่องค้นหาไซต์ลิงก์

<meta name="googlebot" content="notranslate">

เมื่อ Google พบว่าเนื้อหาในหน้าเว็บเขียนด้วยภาษาที่ผู้ใช้ไม่น่าจะอ่านได้ Google จะแสดงลิงก์ Title และตัวอย่างข้อมูลที่แปลแล้วไว้ในผลการค้นหา หากผู้ใช้คลิกลิงก์ Title ที่แปลแล้ว การโต้ตอบที่ผู้ใช้ทำกับทุกหน้าเว็บต่อจากนั้นจะทำผ่าน Google แปลภาษา ซึ่งจะแปลลิงก์ทั้งหมดที่ตามมาโดยอัตโนมัติ โดยทั่วไปแล้ว นี่เป็นโอกาสที่คุณจะนำเสนอเนื้อหาที่ไม่เหมือนใครและน่าสนใจให้แก่ผู้ใช้กลุ่มใหญ่ขึ้น อย่างไรก็ตาม อาจมีบางสถานการณ์ที่โอกาสดังกล่าวไม่เป็นที่ต้องการ แท็ก meta นี้จะบอก Google ว่าคุณไม่ต้องการให้เราแปลเนื้อหาในหน้านี้

<meta name="google" content="nopagereadaloud">

ป้องกันไม่ให้บริการอ่านออกเสียงข้อความ Google อ่านหน้าเว็บโดยใช้การอ่านออกเสียงข้อความ (TTS)

<meta name="google-site-verification" content="...">

คุณใช้แท็กนี้ในหน้าระดับบนสุดของเว็บไซต์เพื่อยืนยันการเป็นเจ้าของสำหรับ Search Console ได้ โปรดสังเกตว่า แม้ค่าของแอตทริบิวต์ name และ content จะต้องตรงกับสิ่งที่นำเสนอต่อคุณทุกประการ (รวมถึงตัวพิมพ์ใหญ่และตัวพิมพ์เล็ก) แต่จะไม่ให้ความสำคัญว่าคุณเปลี่ยนแท็กจาก XHTML เป็น HTML หรือรูปแบบแท็กตรงกับรูปแบบของหน้าเว็บไหม

<meta http-equiv="Content-Type" content="...; charset=...">

<meta charset="...">

แท็กเหล่านี้จะกำหนดประเภทเนื้อหาและการเข้ารหัสข้อความของหน้าเว็บตามลำดับ ตรวจสอบว่าคุณได้ใส่เครื่องหมายคำพูดล้อมรอบค่าของแอตทริบิวต์ content ในแท็ก http-equiv meta มิเช่นนั้นแอตทริบิวต์ charset อาจถูกตีความผิดได้ ขอแนะนำให้ใช้ Unicode/UTF-8 ในทุกที่ที่ทำได้

<meta http-equiv="refresh" content="...;url=...">

แท็กนี้ (มักเรียกกันว่า "การรีเฟรชเมตา") จะส่ง URL ใหม่ให้ผู้ใช้ไปหลังจากระยะเวลาหนึ่ง และบางครั้งใช้เป็นการเปลี่ยนเส้นทางแบบง่าย อย่างไรก็ตาม แท็กดังกล่าวอาจสร้างความสับสนแก่ผู้ใช้ และบางเบราว์เซอร์ก็ไม่รองรับ เราขอแนะนำให้ใช้การเปลี่ยนเส้นทาง 301 ฝั่งเซิร์ฟเวอร์แทน

<meta name="viewport" content="...">

แท็กนี้บอกวิธีการที่เบราว์เซอร์จะแสดงผลหน้าเว็บบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ การมีอยู่ของแท็กนี้บ่งบอกให้ Google รู้ว่าหน้านี้เหมาะกับอุปกรณ์เคลื่อนที่ อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีกําหนดค่าแท็ก viewport meta

<meta name="rating" content="adult">

<meta name="rating" content="RTA-5042-1996-1400-1577-RTA">

ติดป้ายกำกับหน้าเว็บว่ามีเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ที่สื่อถึงเรื่องเพศอย่างโจ่งแจ้ง เพื่อส่งสัญญาณแจ้งว่ามีการกรองโดยผลการค้นหาของฟีเจอร์ค้นหาปลอดภัย ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการติดป้ายกำกับหน้าฟีเจอร์ค้นหาปลอดภัย

แอตทริบิวต์แท็ก HTML

แอตทริบิวต์แท็ก HTML คือค่าเพิ่มเติมของแท็ก HTML ที่กําหนดค่าแท็กระดับบน เช่น แอตทริบิวต์ href ของแท็ก <a> กําหนดค่าทรัพยากรที่แท็ก Anchor ชี้ไปยัง <a href="https://example.com/"...>

Google Search รองรับแอตทริบิวต์ HTML ในจํานวนจํากัดสําหรับวัตถุประสงค์ด้านการจัดทําดัชนี แอตทริบิวต์อย่าง src และ href ใช้ในการค้นพบทรัพยากร เช่น รูปภาพและ URL นอกจากนี้ Google ยังรองรับแอตทริบิวต์ rel ที่หลากหลายซึ่งช่วยให้เจ้าของเว็บไซต์มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ของลิงก์ขาออก

แอตทริบิวต์ data-nosnippet ของแท็ก div, span และ section ช่วยให้คุณยกเว้นส่วนต่างๆ ของหน้าเว็บ HTML จากตัวอย่างข้อมูลได้

ประเด็นอื่นๆ ที่ควรทราบมีดังนี้

  • Google อ่านได้ทั้งแท็ก meta รูปแบบ HTML และ XHTML ไม่ว่าจะใช้โค้ดใดในหน้าก็ตาม
  • ส่วน head ต้องเป็น HTML ที่ถูกต้องเพื่อให้เครื่องมือแท็กอ่านได้ และในกรณีของแอตทริบิวต์ แท็กระดับบนสุดทั้งหมดต้องปิดอย่างสอดคล้อง
  • ตัวพิมพ์ใหญ่หรือเล็กโดยทั่วไปไม่มีความสำคัญใดๆ ในแท็ก meta ยกเว้น google-site-verification
  • คุณสามารถใช้แท็ก meta อื่นๆ ได้หากแท็กเหล่านั้นสําคัญต่อเว็บไซต์ แต่ Google จะไม่สนใจแท็ก meta ที่ไม่รองรับ
  • หากกําลังพิจารณาใช้ JavaScript เพื่อแทรกหรือเปลี่ยนแท็ก meta โปรดดําเนินการต่อด้วยความระมัดระวัง เราขอแนะนําให้คุณหลีกเลี่ยงการใช้ JavaScript เพื่อแทรกหรือเปลี่ยนแท็ก meta ทุกครั้งที่ทําได้ และโปรดทดสอบการใช้งานอย่างละเอียดหากจําเป็นต้องใช้
  • หากต้องการตรวจสอบแท็ก meta และแอตทริบิวต์ในหน้าเว็บ ให้ใช้เครื่องมือตรวจสอบ URL

แท็กและแอตทริบิวต์ที่ไม่รองรับ

Google Search ไม่รองรับและจะไม่สนใจแท็กและแอตทริบิวต์ต่อไปนี้ เรารวบรวมไว้ที่นี่เพราะพบได้ทั่วไปใน HTML หรือเราเคยรองรับ

แท็กและแอตทริบิวต์ที่ไม่รองรับ
<meta name="keywords" content="..."> Google Search ไม่ได้ใช้เมตาแท็กคีย์เวิร์ด และจะไม่ส่งผลต่อการจัดทําดัชนีและการจัดอันดับแต่อย่างใด
แอตทริบิวต์ lang ของแท็ก HTML Google Search ตรวจหาภาษาของหน้าโดยอิงตามเนื้อหาข้อความของหน้าเว็บ แต่ไม่ได้อิงตามคําอธิบายประกอบโค้ด เช่น lang
<link rel="next" href="...">

<link rel="prev" href="...">
Google ไม่ได้ใช้แท็ก HTML <link> เหล่านี้แล้ว และจะไม่มีผลต่อการจัดทําดัชนี