การสร้างเนื้อหาที่มีประโยชน์ น่าเชื่อถือ และคำนึงถึงผู้ใช้เป็นหลัก

ระบบการจัดอันดับอัตโนมัติของ Google ออกแบบมาเพื่อแสดงข้อมูลที่มีประโยชน์ น่าเชื่อถือ และคำนึงถึงผู้ใช้เป็นหลัก ไม่ใช่เพื่อให้ได้รับการจัดอันดับโดยเครื่องมือค้นหาในผลการค้นหายอดนิยม หน้านี้ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ครีเอเตอร์ประเมินว่าตนกําลังผลิตเนื้อหาดังกล่าวหรือไม่

ประเมินเนื้อหาด้วยตนเอง

การประเมินเนื้อหาของคุณโดยตอบคําถามเหล่านี้จะช่วยให้วัดได้ว่าเนื้อหาที่คุณกําลังสร้างมีประโยชน์และน่าเชื่อถือหรือไม่ นอกเหนือจากการถามคำถามเหล่านี้แล้ว ลองขอให้ผู้อื่นที่คุณไว้วางใจแต่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ของคุณทำการประเมินอย่างซื่อตรง

และให้พิจารณาทำการตรวจสอบการลดลงของอันดับด้วยในกรณีที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ดูว่าหน้าใดได้รับผลกระทบมากที่สุดและเกิดขึ้นจากการค้นหาประเภทใด ตรวจสอบหน้าดังกล่าวอย่างละเอียดเพื่อให้เข้าใจผลการประเมินจากการถามคำถามบางส่วนที่ให้ไว้

คำถามเกี่ยวกับเนื้อหาและคุณภาพ

  • เนื้อหามีข้อมูล การรายงาน การวิจัย หรือการวิเคราะห์ที่เป็นต้นฉบับไหม
  • เนื้อหาให้คำอธิบายเกี่ยวกับหัวข้อนั้นๆ อย่างมีแก่นสาร สมบูรณ์ หรือครอบคลุมไหม
  • เนื้อหามีการวิเคราะห์อย่างเจาะลึกหรือมีข้อมูลที่น่าสนใจซึ่งลึกซึ้งกว่าข้อมูลในระดับปกติธรรมดาหรือไม่
  • หากมีการใช้เนื้อหาจากแหล่งอื่น คุณไม่ได้ทำเพียงแค่คัดลอกหรือนำข้อมูลจากแหล่งนั้นมาเขียนใหม่ แต่ได้เพิ่มคุณค่าอย่างมีสาระสำคัญและมีความคิดริเริ่มที่ไม่ซ้ำกับของเดิมใช่ไหม
  • พาดหัวหลักหรือชื่อหน้ามีสรุปเนื้อหาที่เป็นข้อความอธิบายและมีประโยชน์ใช่ไหม
  • พาดหัวหลักหรือชื่อหน้าหลีกเลี่ยงการใช้คำเกินจริงหรือสร้างความตื่นตระหนกหรือไม่
  • หน้าเว็บมีลักษณะที่คุณอยากจะบุ๊กมาร์ก แชร์กับเพื่อน หรือแนะนำคนอื่นไหม
  • คุณคาดว่าเนื้อหานี้จะได้รับการตีพิมพ์หรืออ้างอิงในนิตยสาร สารานุกรม หรือหนังสือไหม
  • เนื้อหามีคุณค่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับหน้าอื่นๆ ในผลการค้นหาหรือไม่
  • เนื้อหามีปัญหาเกี่ยวกับการสะกดหรือสไตล์หรือไม่
  • เนื้อหาผ่านการแก้ไขเรียบเรียงมาอย่างดี หรือดูเหมือนทำมาอย่างลวกๆ หรือผลิตออกมาอย่างเร่งรีบหรือไม่
  • เนื้อหานั้นจัดทำขึ้นเป็นปริมาณมากโดยหรือใช้การว่าจ้างผู้สร้างเนื้อหาจำนวนมาก หรือมีการกระจายไปทั่วเครือข่ายเว็บไซต์ขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้แต่ละหน้าหรือแต่ละเว็บไซต์นั้นไม่ได้รับความเอาใจใส่หรือการดูแลมากนักใช่หรือไม่

คำถามเกี่ยวกับทักษะความเชี่ยวชาญ

  • เนื้อหานำเสนอข้อมูลในลักษณะที่ทำให้คุณรู้สึกว่าเชื่อถือได้หรือไม่ เช่น มีแหล่งที่มาที่ชัดเจน หลักฐานเกี่ยวกับทักษะความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ภูมิหลังของผู้เขียนหรือเว็บไซต์ที่เผยแพร่เนื้อหา เช่น ด้วยการคลิกลิงก์ไปยังหน้าเกี่ยวกับผู้เขียนหรือหน้า "เกี่ยวกับ" ของเว็บไซต์
  • หากมีผู้เข้ามาดูข้อมูลของเว็บไซต์ที่ผลิตเนื้อหา พวกเขาจะมีความประทับใจว่าเว็บไซต์มีความน่าเชื่อถือหรือเว็บไซต์เป็นที่รู้จักในวงกว้างว่ามีความเชี่ยวชาญหรือเกี่ยวข้องโดยตรงในหัวข้อที่นําเสนอหรือไม่
  • เนื้อหานี้เขียนหรือตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญหรือผู้สนใจที่แสดงให้เห็นว่ามีความรู้ในหัวข้อนั้นๆ เป็นอย่างดีใช่ไหม
  • เนื้อหามีข้อผิดพลาดด้านข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบได้ง่ายหรือไม่

ให้ประสบการณ์การใช้งานหน้าเว็บที่ยอดเยี่ยม

ระบบการจัดอันดับหลักของ Google จะตอบแทนเนื้อหาที่มอบประสบการณ์การใช้งานหน้าเว็บที่ดี เจ้าของเว็บไซต์ที่ต้องการประสบความสำเร็จกับระบบไม่ควรมุ่งเน้นแค่ประสบการณ์การใช้งานหน้าเว็บเพียง 1 หรือ 2 ด้าน แต่คุณควรมอบประสบการณ์การใช้งานหน้าเว็บโดยรวมที่มีคุณภาพในหลายๆ ด้าน ดูคําแนะนําเพิ่มเติมได้ที่หน้าทําความเข้าใจประสบการณ์การใช้งานหน้าเว็บในผลการค้นหาของ Google Search

มุ่งเน้นการสร้างเนื้อหาที่ให้ความสำคัญกับผู้คนเป็นอันดับแรก

เนื้อหาที่คำนึงถึงผู้ใช้เป็นหลักหมายถึงเนื้อหาที่จัดทําขึ้นสําหรับผู้ใช้เป็นหลัก ไม่ใช่เพื่อหวังผลในการจัดอันดับของเครื่องมือค้นหา คุณจะประเมินได้อย่างไรว่ากําลังสร้างเนื้อหาที่คำนึงถึงผู้ใช้เป็นหลัก หากคำตอบของคุณคือ "ใช่" ต่อคำถามด้านล่าง นั่นอาจหมายความว่าคุณกําลังไปในทิศทางที่ถูกต้องด้วยการให้ความสําคัญกับผู้ใช้เป็นหลัก

  • กลุ่มเป้าหมายที่มีอยู่หรือกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งใจสำหรับธุรกิจหรือเว็บไซต์ของคุณจะเห็นว่าเนื้อหามีประโยชน์ไหมหากพวกเขามาที่เว็บไซต์ของคุณโดยตรง
  • เนื้อหาของคุณแสดงให้เห็นความเชี่ยวชาญโดยตรงและความรู้เชิงลึกอย่างชัดเจนใช่ไหม (เช่น ความเชี่ยวชาญที่มาจากการใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการหนึ่งๆ หรือการเข้าชมสถานที่)
  • เว็บไซต์ของคุณมีวัตถุประสงค์หรือความมุ่งเน้นหลักไหม
  • หลังจากอ่านเนื้อหาของคุณแล้ว จะมีคนรู้สึกว่าได้ศึกษาเกี่ยวกับหัวข้อหนึ่งๆ มากพอที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายใช่ไหม
  • ผู้คนที่อ่านเนื้อหาของคุณรู้สึกเหมือนกับว่าเขาได้รับประสบการณ์ที่น่าพึงพอใจใช่ไหม

หลีกเลี่ยงการสร้างเนื้อหาที่คำนึงถึงเครื่องมือค้นหาเป็นหลัก

เราขอแนะนําให้คุณเน้นการสร้างเนื้อหาที่คำนึงถึงผู้ใช้เป็นหลักหากต้องการประสบความสําเร็จใน Google Search ไม่ใช่เนื้อหาที่คำนึงถึงเครื่องมือค้นหาเป็นหลักเพื่อให้ได้รับการจัดอันดับในเครื่องมือค้นหา หากคำตอบของคุณต่อคําถามบางข้อหรือทุกข้อด้านล่างคือ "ใช่" นั่นเป็นสัญญาณเตือนให้คุณควรลองประเมินเนื้อหาที่คุณสร้างดูอีกครั้งดังนี้

  • เนื้อหาส่วนใหญ่จัดทําขึ้นเพื่อดึงดูดการเข้าชมจากเครื่องมือค้นหาใช่ไหม
  • หากคุณผลิตเนื้อหาจํานวนมากเกี่ยวกับหัวข้อต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป โดยหวังว่าเนื้อหาบางส่วนอาจทํางานได้ดีในผลการค้นหาใช่ไหม
  • คุณพึ่งพาระบบอัตโนมัติอย่างมากเพื่อผลิตเนื้อหาในหลายหัวข้อใช่ไหม
  • เนื้อหาของคุณสรุปสิ่งที่ผู้อื่นพูดเป็นหลักโดยไม่มีการเพิ่มคุณค่าใช่ไหม
  • คุณเขียนเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ เพียงเพราะว่าดูเป็นเทรนด์ ไม่ใช่เขียนเรื่องนั้นเพื่อกลุ่มเป้าหมายที่มีอยู่ใช่ไหม
  • เนื้อหาของคุณทําให้ผู้อ่านรู้สึกว่าต้องค้นหาอีกครั้งเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ดีขึ้นจากแหล่งที่มาอื่นๆ ใช่ไหม
  • คุณเขียนให้ถึงจํานวนคําที่เจาะจงจำนวนหนึ่ง เนื่องจากเคยได้ยินหรืออ่านมาว่า Google มีระบุจำนวนคําที่ต้องการใช่ไหม (ซึ่งเราไม่มีการระบุจำนวนคำใดๆ)
  • คุณเลือกที่จะใส่หัวข้อเฉพาะบางอย่างซึ่งคุณไม่ได้มีความเชี่ยวชาญจริงๆ แต่ที่ใส่อย่างนั้นเพราะคิดว่าจะมีปริมาณการค้นหามากขึ้นใช่ไหม
  • เนื้อหาของคุณให้สัญญาว่าจะตอบคำถามที่ไม่มีคำตอบที่แท้จริงใช่ไหม เช่น เนื้อหาชี้นำว่าจะบอกวันเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ ภาพยนตร์ หรือรายการทีวีทั้งที่ยังไม่มีการยืนยันแต่อย่างใด
  • คุณเปลี่ยนวันที่ของหน้าเว็บเพื่อให้ดูเป็นเนื้อหาใหม่ทั้งๆ ที่เนื้อหาไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญใช่ไหม
  • คุณเพิ่มเนื้อหาใหม่จำนวนมากหรือนำเนื้อหาเก่าออกจำนวนมากเป็นหลักเนื่องจากเชื่อว่าการทำเช่นนี้จะช่วยในการจัดอันดับการค้นหาโดยรวมด้วยการทำให้เว็บไซต์ดู "สดใหม่" ใช่ไหม (ซึ่งไม่ใช่เลย)

แล้ว SEO ล่ะ ถือเป็นการให้ความสำคัญกับเครื่องมือค้นหาเป็นอันดับแรกไหม

มีบางอย่างที่คุณสามารถทําได้เพื่อช่วยให้เครื่องมือค้นหาค้นพบและเข้าใจเนื้อหาของคุณได้ดียิ่งขึ้น เราเรียกสิ่งนี้รวมกันว่า "การปรับแต่งเว็บไซต์ให้ติดอันดับบนเครื่องมือค้นหา" หรือเรียกสั้นๆ ว่า SEO คู่มือ SEO ของ Google จะอธิบายแนวทางปฏิบัติแนะนําต่างๆ SEO อาจเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์เมื่อนําไปใช้กับเนื้อหาที่ให้ความสําคัญกับผู้ใช้เป็นหลัก ไม่ใช่เนื้อหาที่คำนึงถึงเครื่องมือค้นหาเป็นหลัก

ทําความรู้จักกับ E-E-A-T และหลักเกณฑ์ของผู้ประเมินคุณภาพ

ระบบอัตโนมัติของ Google ออกแบบมาเพื่อใช้ปัจจัยต่างๆ ในการจัดอันดับเนื้อหาที่ดี หลังจากระบุเนื้อหาที่เกี่ยวข้องแล้ว ระบบของเราตั้งเป้าที่จะให้ความสําคัญกับเนื้อหาที่ดูจะมีประโยชน์มากที่สุด ในการทำเช่นนี้ ระบบจะระบุปัจจัยหลายอย่างผสมกันที่จะช่วยตัดสินว่าเนื้อหาใดแสดงให้เห็นถึงแง่มุมของประสบการณ์ (Experience) ความเชี่ยวชาญ (Expertise) ความน่าเชื่อถือ (Authoritativeness) และความเชื่อใจได้ (Trustworthiness) หรือที่เราเรียกว่า E-E-A-T

ในแง่มุมเหล่านี้ ความไว้วางใจถือว่าสําคัญที่สุด ส่วนแง่มุมอื่นๆ ก็มีส่วนสร้างความน่าเชื่อถือ แต่ก็ไม่จำเป็นว่าต้องแสดงให้เห็นทั้งหมดในเนื้อหา เช่น เนื้อหาบางส่วนอาจมีประโยชน์เมื่อพิจารณาจากประสบการณ์ที่เนื้อหานั้นนําเสนอ แต่เนื้อหาอื่นๆ อาจมีประโยชน์เนื่องจากมีการแบ่งปันความเชี่ยวชาญ

แม้ว่า E-E-A-T จะไม่ใช่ปัจจัยในการจัดอันดับโดยเฉพาะ แต่การพิจารณาหลายปัจจัยรวมกันซึ่งทำให้ระบุเนื้อหาที่มีคุณสมบัติ E-E-A-T ที่ดีได้นั้นเป็นประโยชน์ ตัวอย่างเช่น ระบบของเราให้น้ำหนักแก่เนื้อหาที่มีคุณสมบัติ E-E-A-T มากกว่าสำหรับหัวข้อที่อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพ ความมั่นคงทางการเงิน หรือความปลอดภัยของประชาชน หรือต่อสวัสดิการหรือความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม เราเรียกหัวข้อเหล่านี้ว่า "Your Money or Your Life" หรือเรียกสั้นๆ ว่า YMYL

ผู้ประเมินคุณภาพการค้นหาคือผู้ที่ให้ข้อมูลเชิงลึกว่าอัลกอริทึมของเราน่าจะให้ผลลัพธ์ที่ดีหรือไม่ ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงที่เราทำนั้นให้ผลดี กล่าวอย่างเจาะจงคือ ผู้ประเมินได้รับการฝึกอบรมให้เข้าใจว่าเนื้อหามีคุณสมบัติ E-E-A-T ที่มีคุณภาพดีมากพอหรือไม่ เกณฑ์ที่ใช้ในกระบวนการนี้ที่ระบุไว้ในหลักเกณฑ์ของผู้ประเมินคุณภาพการค้นหา

การอ่านหลักเกณฑ์ดังกล่าวอาจช่วยคุณในการประเมินว่าเนื้อหามีประสิทธิภาพเป็นอย่างไรในมุมมองของ E-E-A-T รวมถึงมีการปรับปรุงเพื่อพิจารณาดำเนินการ และช่วยปรับแนวคิดให้สอดคล้องกับสัญญาณต่างๆ ที่ระบบอัตโนมัติของเราใช้ในการจัดอันดับเนื้อหา

ถามเกี่ยวกับเนื้อหาของคุณว่า "ใคร อย่างไร และทําไม"

ลองประเมินเนื้อหาของคุณว่า "ใคร อย่างไร และทําไม" เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างเนื้อหาที่ระบบของเราอยากเห็นเพื่อแสดงแก่ผู้ใช้

ใคร (ผู้สร้างเนื้อหา)

สิ่งที่ช่วยให้ผู้คนเข้าใจหลักการ E-E-A-T ของเนื้อหาอย่างตรงไปตรงมาคือ เมื่อมีการระบุได้อย่างชัดเจนว่าใครเป็นผู้สร้างเนื้อหา นั่นคือคำถาม "ใคร" ที่คุณต้องพิจารณา เมื่อสร้างเนื้อหา คําถามที่เกี่ยวกับ "ใคร" ที่คุณควรถามตัวเองมีดังนี้

  • ผู้เข้าชมเห็นด้วยตนเองอย่างชัดเจนไหมว่าใครคือผู้เขียนเนื้อหาของคุณ
  • หน้าเว็บมีบรรทัดชื่อผู้เขียนในตำแหน่งที่ควรจะมีไหม
  • บรรทัดชื่อผู้เขียนมีรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เขียนหรือผู้เขียนที่เกี่ยวข้องไหม โดยมีการอธิบายความเป็นมาเกี่ยวกับผู้เขียนและเรื่องที่ผู้เขียนเชี่ยวชาญ

หากคุณระบุได้อย่างชัดเจนว่าใครเป็นผู้สร้างเนื้อหา ก็ดูเหมือนคุณกำลังไปในทิศทางเดียวกันกับแนวคิด E-E-A-T และอยู่บนเส้นทางสู่ความสําเร็จ เราขอแนะนําอย่างยิ่งให้เพิ่มข้อมูลผู้เขียนที่ถูกต้องอย่างเช่นบรรทัดชื่อผู้เขียน ลงในเนื้อหาที่ผู้อ่านอาจคาดหวังว่าจะได้เห็น

อย่างไร (วิธีที่ใช้สร้างเนื้อหา)

การบอกว่าเนื้อหาสร้างขึ้นมาอย่างไรจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน คำถาม "อย่างไร" เป็นสิ่งที่คุณควรพิจารณาใส่ไว้ในเนื้อหาของคุณ

ตัวอย่างเช่น รีวิวผลิตภัณฑ์จะช่วยสร้างความไว้วางใจให้ผู้อ่านเมื่อรู้จำนวนผลิตภัณฑ์ที่ทำการทดสอบ ผลการทดสอบ และประสิทธิภาพของการทดสอบ ทั้งหมดนี้ควรมาพร้อมกับหลักฐานของงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาพถ่าย โดยเรามีคำแนะนำเพิ่มเติมเรื่องวิธีเขียนรีวิวคุณภาพสูงสําหรับผลิตภัณฑ์ในหน้าความช่วยเหลือ

เนื้อหาหลายประเภทอาจมีคอมโพเนนต์ "อย่างไร" (วิธีการ) ซึ่งอาจรวมถึงเนื้อหาที่สร้างขึ้นอัตโนมัติโดย AI และเนื้อหาที่ได้รับการช่วยเหลือจาก AI การแชร์รายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการที่เกี่ยวข้องจะช่วยให้ผู้อ่านและผู้เข้าชมเข้าใจการทำงานของระบบอัตโนมัติว่ามีบทบาทเฉพาะตนที่เป็นประโยชน์ได้ดีขึ้น

หากใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อสร้างเนื้อหาจํานวนมาก คําถามบางส่วนที่คุณควรถามตัวเองมีดังนี้

  • ผู้เข้าชมรู้ถึงการใช้ระบบอัตโนมัติซึ่งรวมถึงเนื้อหาที่ AI สร้างขึ้น อย่างชัดเจนด้วยตัวเองผ่านการเปิดเผยหรือวิธีอื่นๆ ไหม
  • คุณให้ข้อมูลเบื้องหลังวิธีใช้ระบบอัตโนมัติหรือการใช้ AI สร้างเนื้อหาไหม
  • คุณได้อธิบายเหตุผลไหมว่าทำไมระบบอัตโนมัติหรือ AI เป็นประโยชน์ในการสร้างเนื้อหา

โดยรวมแล้ว การเปิดเผยเรื่องการใช้ AI หรือระบบอัตโนมัติมีประโยชน์สําหรับเนื้อหาที่อาจมีคนคิดว่า "เนื้อหานี้สร้างขึ้นได้อย่างไร" ไหม ให้คุณพิจารณาเพิ่มข้อมูลเหล่านี้เมื่อคาดว่าสมเหตุสมผลที่จะเปิดเผย ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บล็อกโพสต์และคําถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับวิธีที่ Google Search ดูเนื้อหาที่สร้างโดย AI

ทำไม (จึงสร้างเนื้อหา)

"ทำไม" อาจเป็นคําถามที่สําคัญที่สุดที่ต้องตอบเกี่ยวกับเนื้อหาของคุณ ทําไมจึงสร้างเนื้อหานี้ขึ้นมาตั้งแต่แรก

"ทำไม" คำตอบสำหรับคำถามนี้ควรเป็นคุณสร้างเนื้อหาเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้เป็นหลัก เนื้อหาดังกล่าวเป็นประโยชน์กับผู้เข้าชมหากเข้ามาที่เว็บไซต์โดยตรง หากเป็นคำตอบดังกล่าว แสดงว่าคุณกำลังไปในแนวทางเดียวกับ E-E-A-T โดยทั่วไป และนั่นคือสิ่งที่ระบบการจัดอันดับหลักของเราให้คุณค่าและมองหา

หากคำตอบสำหรับคำถาม "ทำไม" คือ คุณจะสร้างเนื้อหาเพื่อดึงดูดการเข้าชมผ่านเครื่องมือค้นหาเป็นหลัก นั่นไม่ใช่แนวทางที่สอดคล้องกับสิ่งที่ระบบของเราต้องการ หากคุณใช้ระบบอัตโนมัติ ซึ่งรวมถึงการใช้ AI เพื่อสร้างเนื้อหาเพื่อวัตถุประสงค์หลักในการจัดการการจัดอันดับการค้นหา นั่นคือการละเมิดนโยบายสแปมของเรา