การใส่เลขหน้า การโหลดหน้าเว็บที่เพิ่มขึ้น และผลกระทบที่มีต่อ Google Search

คุณปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ใช้ในเว็บไซต์ได้ด้วยการแสดงผลลัพธ์ชุดย่อยเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของหน้าเว็บ แต่อาจต้องดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่า Crawler ของ Google จะพบเนื้อหาเว็บไซต์ทั้งหมดของคุณ

ตัวอย่างเช่น คุณอาจแสดงชุดย่อยของผลิตภัณฑ์ที่มีให้บริการเมื่อผู้ใช้ใช้ช่องค้นหาในเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของคุณ เนื่องจากชุดผลิตภัณฑ์ที่ตรงกันทั้งหมดอาจแสดงได้ไม่หมดในหน้าเว็บเดียว หรือใช้เวลาเรียกข้อมูลนานเกินไป

นอกเหนือจากผลการค้นหา คุณอาจโหลดผลลัพธ์บางส่วนในเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซสำหรับรายการต่อไปนี้

  • หน้าหมวดหมู่ที่มีการแสดงผลิตภัณฑ์ทั้งหมดในหมวดหมู่หนึ่งอยู่
  • บล็อกโพสต์หรือชื่อจดหมายข่าวที่เว็บไซต์เผยแพร่ในช่วงเวลาต่างๆ
  • รีวิวผู้ใช้ในหน้าผลิตภัณฑ์
  • ความคิดเห็นในบล็อกโพสต์

การให้เว็บไซต์โหลดเนื้อหาเพิ่มเติมเพื่อตอบสนองต่อการดำเนินการของผู้ใช้นั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ดังนี้

  • ช่วยปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ใช้ เนื่องจากการโหลดหน้าเว็บเริ่มต้นเร็วกว่าการโหลดผลการค้นหาทั้งหมดพร้อมกัน
  • ช่วยลดการจราจรของข้อมูลในเครือข่าย ซึ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่
  • ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพแบ็กเอนด์ด้วยการลดปริมาณเนื้อหาที่เรียกจากฐานข้อมูลหรือแหล่งข้อมูลที่คล้ายกัน
  • ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือด้วยการหลีกเลี่ยงรายการที่ยาวเกินไปซึ่งอาจเต็มจำนวนทรัพยากรสูงสุดที่กำหนดไว้ และทำให้เกิดข้อผิดพลาดในเบราว์เซอร์และระบบแบ็กเอนด์

การเลือกรูปแบบ UX ที่ดีที่สุดสำหรับเว็บไซต์

การแสดงชุดย่อยของรายการขนาดใหญ่มีรูปแบบ UX ให้เลือกหลายรูปแบบ ดังนี้

  • การใส่เลขหน้า: ผู้ใช้สามารถใช้ลิงก์อย่างเช่น "ถัดไป" "ก่อนหน้า" และเลขหน้าเพื่อไปยังหน้าต่างๆ ที่แสดงผลการค้นหาทีละหน้า
  • โหลดเพิ่มเติม: ปุ่มที่ผู้ใช้สามารถคลิกเพื่อขยายชุดเริ่มต้นของผลการค้นหาที่แสดง
  • การเลื่อนได้ไม่รู้จบ: ผู้ใช้สามารถเลื่อนไปจนสุดหน้าเพื่อให้มีการโหลดเนื้อหาเพิ่มเติม (ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำแนะนำสำหรับการเลื่อนได้ไม่รู้จบที่ค้นหาได้ง่าย)
การใส่เลขหน้าทั่วไป การโหลดเพิ่มเติม และรูปแบบการเลื่อนได้ไม่รู้จบสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่

ลองพิจารณาข้อมูลต่อไปนี้ว่าประสบการณ์ของผู้ใช้แบบใดที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเว็บไซต์ของคุณ

รูปแบบ UX
การใส่เลขหน้า

ข้อดี

  • ให้ข้อมูลเชิงลึกแก่ผู้ใช้เกี่ยวกับขนาดของผลการค้นหาและตำแหน่งปัจจุบัน

ข้อเสีย

  • ตัวควบคุมที่ซับซ้อนขึ้นสำหรับผู้ใช้ในการไปยังส่วนต่างๆ ของผลการค้นหา
  • เนื้อหาจะแบ่งออกเป็นหลายหน้าแทนที่จะต่อเนื่องกันเป็นรายการเดียว
  • การดูผลการค้นหาเพิ่มเติมทำให้ต้องโหลดหน้าเว็บใหม่
โหลดเพิ่มเติม

ข้อดี

  • ใช้หน้าเว็บเดียวสำหรับเนื้อหาทั้งหมด
  • สามารถแจ้งให้ผู้ใช้ทราบถึงขนาดผลการค้นหาทั้งหมด (ที่ด้านล่างหรือบริเวณด้านล่าง)

ข้อเสีย

  • จัดการผลการค้นหาจำนวนมากๆ ไม่ได้ เนื่องจากผลการค้นหาทั้งหมดรวมอยู่ในหน้าเว็บหน้าเดียว
การเลื่อนได้ไม่รู้จบ

ข้อดี

  • ใช้หน้าเว็บเดียวสำหรับเนื้อหาทั้งหมด
  • ใช้งานง่าย ผู้ใช้เพียงเลื่อนไปเรื่อยๆ เพื่อดูเนื้อหาเพิ่มเติม

ข้อเสีย

  • อาจทำให้เกิดการ "เลื่อนจนเหนื่อย" เนื่องจากไม่ทราบจำนวนผลการค้นหาที่ชัดเจน
  • จัดการผลการค้นหาจำนวนมากๆ ไม่ได้

วิธีที่ Google จัดทำดัชนีกลยุทธ์ต่างๆ

เมื่อคุณเลือกกลยุทธ์ UX ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเว็บไซต์และ SEO แล้ว ให้ตรวจสอบว่า Crawler ของ Google สามารถค้นพบเนื้อหาทั้งหมดของคุณ

ตัวอย่างเช่น คุณอาจใช้การใส่เลขหน้าโดยใช้ลิงก์ไปยังหน้าใหม่บนเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ หรือใช้ JavaScript เพื่ออัปเดตหน้าปัจจุบัน โดยทั่วไปการโหลดเพิ่มเติมและการเลื่อนได้ไม่รู้จบจะใช้งานได้ด้วย JavaScript เมื่อรวบรวมเว็บไซต์เพื่อหาหน้าที่จะจัดทำดัชนี Google จะไปตามลิงก์หน้าเว็บที่มาร์กอัปไว้ใน HTML ด้วยแท็ก <a href> เท่านั้น Crawler ของ Google จะไม่ไปตามปุ่ม (เว้นแต่จะมาร์กอัปไว้ด้วย <a href>) และจะไม่เรียกใช้ JavaScript เพื่ออัปเดตเนื้อหาในหน้าปัจจุบัน

หากเว็บไซต์ใช้ JavaScript ให้ทำตามแนวทางปฏิบัติแนะนำเกี่ยวกับ JavaScript SEO นอกเหนือจากแนวทางปฏิบัติแนะนำ เช่น การตรวจสอบว่าสามารถรวบรวมข้อมูลลิงก์ในเว็บไซต์ได้ ให้พิจารณาใช้ไฟล์ Sitemap หรือฟีด Google Merchant Center เพื่อช่วยให้ Google ค้นพบผลิตภัณฑ์ทั้งหมดในเว็บไซต์ของคุณ

แนวทางปฏิบัติแนะนําเมื่อใช้การใส่เลขหน้า

ตรวจสอบว่า Google สามารถทำการ Crawl และจัดทำดัชนีเนื้อหาที่ใส่เลขหน้าโดยทำตามแนวทางปฏิบัติแนะนำเหล่านี้

เชื่อมโยงหน้าเว็บตามลําดับ

เพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องมือค้นหาจะเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างหน้าเว็บของเนื้อหาที่ใส่เลขหน้า ให้ใส่ลิงก์จากแต่ละหน้าลงในหน้าถัดไปโดยใช้แท็ก <a href> วิธีนี้ช่วยให้ Googlebot (Web Crawler ของ Google) ค้นพบหน้าที่ตามมา

ตัวอย่างผลการค้นหาที่ใส่เลขหน้า

นอกจากนี้ ให้พิจารณาการลิงก์จากแต่ละหน้าทั้งหมดในคอลเล็กชันกลับไปยังหน้าแรกของคอลเล็กชันเพื่อเน้นการเริ่มต้นของคอลเล็กชันให้ Google ทราบ วิธีนี้ช่วยแนะนำให้ Google ทราบว่าหน้าแรกของคอลเล็กชันอาจเป็นหน้า Landing Page ที่ดีกว่าหน้าอื่นๆ ในคอลเล็กชัน

ใช้ URL ให้ถูกต้อง

  • ให้แต่ละหน้ามี URL ที่ไม่ซ้ำกัน ตัวอย่างเช่น ใส่พารามิเตอร์การค้นหา ?page=n เนื่องจาก Google จะถือว่า URL ในลำดับที่ใส่เลขหน้าเป็นรายการที่แยกกัน
  • อย่าใช้หน้าแรกของลำดับที่ใส่เลขหน้าเป็นหน้า Canonical แต่ให้ระบุ Canonical URL สำหรับแต่ละหน้าในลำดับแทน
  • อย่าใช้ตัวระบุส่วนย่อย URL (ข้อความหลังจาก # ใน URL) เป็นเลขหน้าในคอลเล็กชัน Google ไม่สนใจตัวระบุส่วนย่อย หาก Googlebot เห็นว่า URL ไปยังหน้าถัดไปแตกต่างกันแต่เพียงข้อความหลังจาก # ก็อาจจะไม่ไปตามลิงก์ดังกล่าวเพราะคิดว่าได้เรียกข้อมูลหน้าดังกล่าวแล้ว
  • พิจารณาใช้การโหลดล่วงหน้า การเชื่อมต่อล่วงหน้า หรือการดึงข้อมูลล่วงหน้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสำหรับผู้ใช้ที่จะย้ายไปยังหน้าถัดไป

หลีกเลี่ยงการจัดทําดัชนี URL ด้วยตัวกรองหรือลำดับการจัดเรียงทางเลือก

คุณอาจเลือกที่จะรองรับตัวกรองหรือลำดับการจัดเรียงที่ต่างกันออกไปสำหรับรายการผลการค้นหาที่มีขนาดยาวในเว็บไซต์ของคุณ ตัวอย่างเช่น คุณอาจรองรับ ?order=price ใน URL เพื่อแสดงรายการผลการค้นหาเดียวกันที่เรียงลำดับตามราคา

เพื่อไม่ให้เกิดการจัดทำดัชนีรายการผลการค้นหาเดียวกันหลายเวอร์ชัน ให้บล็อก URL ที่ไม่ต้องการให้จัดทำดัชนีโดยใช้แท็ก meta noindex ของ robots หรือไม่ให้มีการ Crawl URL บางรูปแบบโดยใช้ไฟล์ robots.txt