สร้างและส่ง Sitemap

หน้านี้จะอธิบายวิธีสร้าง Sitemap และทำให้ใช้งานกับ Google ได้ หากคุณเพิ่งเริ่มใช้ Sitemap ให้อ่านข้อมูลเบื้องต้นของเราก่อน

Google รองรับรูปแบบ Sitemap ที่กําหนดโดยโปรโตคอล Sitemap รูปแบบแต่ละรายการมีประโยชน์และข้อดีที่แตกต่างกันไป ให้เลือกการตั้งค่าที่เหมาะกับเว็บไซต์และการตั้งค่าของคุณมากที่สุด (Google ไม่ได้ชอบแบบใดแบบหนึ่งมากกว่ากัน) ต่อไปนี้เป็นตารางเปรียบเทียบ Sitemap รูปแบบต่างๆ

เปรียบเทียบ Sitemap รูปแบบต่างๆ
Sitemap แบบ XML

Sitemap แบบ XML เป็นรูปแบบ Sitemap ที่มีความอเนกประสงค์มากที่สุด โดยสามารถขยายและใช้เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเนื้อหารูปภาพ วิดีโอ และข่าว รวมถึงหน้าเว็บเวอร์ชันที่แปลแล้ว

ข้อดี
  • สามารถขยายได้และใช้งานได้หลากหลาย
  • ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ URL ได้มากที่สุด
  • ระบบจัดการเนื้อหา (CMS) ส่วนใหญ่สร้าง Sitemap โดยอัตโนมัติ หรือผู้ใช้ CMS จะใช้ปลั๊กอิน Sitemap ที่มีให้เลือกมากมายก็ได้
ข้อเสีย
  • การใช้งานอาจยุ่งยาก
  • การรักษาการแมปในเว็บไซต์ขนาดใหญ่หรือเว็บไซต์ที่มีการเปลี่ยนแปลง URL บ่อยๆ อาจซับซ้อน
RSS, mRSS และ Atom 1.0

Sitemap แบบ RSS, mRSS และ Atom 1.0 คล้ายกับโครงสร้างของ Sitemap แบบ XML แต่จะทำได้ง่ายที่สุดเนื่องจาก CMS สร้างให้โดยอัตโนมัติ

ข้อดี
  • CMS ส่วนใหญ่สร้างฟีด RSS และ Atom โดยอัตโนมัติ
  • สามารถใช้เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิดีโอของคุณแก่ Google
ข้อเสีย
Sitemap แบบข้อความ

รูปแบบ Sitemap ที่เรียบง่ายที่สุด โดยจะแสดงเฉพาะ URL เป็น HTML และหน้าที่จัดทําดัชนีได้อื่นๆ

ข้อดี

  • สามารถทำและบำรุงรักษาได้ง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเว็บไซต์ขนาดใหญ่

ข้อเสีย

  • จำกัดเฉพาะ HTML และเนื้อหาข้อความอื่นๆ ที่จัดทำดัชนีได้

แนวทางปฏิบัติแนะนำเกี่ยวกับ Sitemap

แนวทางปฏิบัติแนะนำสำหรับ Sitemap จะกำหนดโดยโปรโตคอลของ Sitemap แนวทางปฏิบัติแนะนําที่ถูกมองข้ามมากที่สุดคือขีดจํากัดของขนาด ตําแหน่งของ Sitemap และ URL ที่รวมอยู่ใน Sitemap

ขีดจํากัดของขนาด Sitemap: Sitemap ทุกรูปแบบจะจำกัดขนาดสำหรับไฟล์เดียวอยู่ที่ 50 MB (ไม่บีบอัด) หรือ 50,000 URL หากมีไฟล์ขนาดใหญ่กว่านี้หรือมี URL มากกว่านี้ จะต้องแยก Sitemap ออกเป็นหลายไฟล์ หรืออาจสร้างไฟล์ดัชนี Sitemap ขึ้นมา 1 ไฟล์และส่งไฟล์นั้นไปยัง Google หรือจะส่ง Sitemap และไฟล์ดัชนี Sitemap หลายไฟล์ไปยัง Google ก็ได้ วิธีนี้จะมีประโยชน์หากคุณต้องการติดตามประสิทธิภาพในการค้นหาของ Sitemap แต่ละรายการใน Search Console

การเข้ารหัสและไฟล์ Sitemap: ไฟล์ Sitemap ต้องมีการเข้ารหัส UTF-8 คุณสามารถโฮสต์ Sitemap ไว้ที่ใดก็ได้ในเว็บไซต์ แต่ Sitemap จะมีผลเฉพาะกับไดเรกทอรีที่สืบทอดจากไดเรกทอรีระดับบนสุด เว้นแต่คุณจะส่ง Sitemap ผ่าน Search Console ดังนั้น Sitemap ที่โพสต์ไว้ที่รูทของเว็บไซต์ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เราแนะนำให้โพสต์ Sitemap นั้นจะมีผลกับทุกไฟล์ในเว็บไซต์

พร็อพเพอร์ตี้ของ URL ที่อ้างอิง: ใช้ URL ที่สมบูรณ์ในตัวเองใน Sitemap Google จะพยายามทำการ Crawl URL ของคุณตามที่ระบุไว้ทุกประการ ตัวอย่างเช่น หากเว็บไซต์อยู่ที่ https://www.example.com/ อย่าระบุ URL อย่างเช่น /mypage.html (Relative URL) ให้ใช้ Absolute URL ซึ่งมีลักษณะดังนี้ https://www.example.com/mypage.html

ใส่ URL ที่คุณต้องการให้ปรากฏในผลการค้นหาของ Google ลงใน Sitemap โดยทั่วไปแล้ว Google จะแสดง Canonical URL ในผลการค้นหาซึ่งคุณควบคุมได้ด้วย Sitemap หากคุณมี URL ที่ต่างกันสำหรับหน้าเว็บรุ่นอุปกรณ์เคลื่อนที่และรุ่นเดสก์ท็อป ขอแนะนำให้ชี้ไปที่เวอร์ชันเดียวเท่านั้นใน Sitemap แต่หากต้องการชี้ไปที่ URL ทั้ง 2 แบบ ให้ใส่หมายเหตุประกอบใน URL เพื่อระบุว่าเป็นเวอร์ชันเดสก์ท็อปและเวอร์ชันอุปกรณ์เคลื่อนที่

ดูรายการแนวทางปฏิบัติแนะนําทั้งหมดได้ในโปรโตคอลของ Sitemap

Sitemap แบบ XML

Sitemap แบบ XML เป็นรูปแบบที่มีความอเนกประสงค์มากที่สุด เมื่อใช้ส่วนขยาย Sitemap ที่ Google รองรับ คุณสามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเนื้อหาประเภทรูปภาพ วิดีโอ และข่าว รวมถึงเวอร์ชันที่แปลแล้วของหน้าเว็บได้ด้วย

ต่อไปนี้คือ Sitemap XML พื้นฐานที่สุดที่มีตำแหน่งของ URL เดี่ยว

<?xml version="1.0" encoding="UTF-8"?>
<urlset xmlns="http://www.sitemaps.org/schemas/sitemap/0.9">
  <url>
    <loc>https://www.example.com/foo.html</loc>
    <lastmod>2022-06-04</lastmod>
  </url>
</urlset>

ดูตัวอย่างที่ซับซ้อนมากขึ้นและเอกสารประกอบฉบับเต็มได้ที่ sitemaps.org

หมายเหตุเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Sitemap แบบ XML

  • และเช่นเดียวกับไฟล์ XML ทั้งหมด ค่าของแท็กทั้งหมดต้องใช้อักขระหลีกกับเอนทิตี
  • Google ไม่สนใจค่า <priority> และ <changefreq>
  • Google จะใช้ค่า <lastmod> ในกรณีที่ค่านั้นมีความถูกต้องเสมอและยืนยันได้ (เช่น โดยการเปรียบเทียบกับการแก้ไขหน้าเว็บครั้งล่าสุด)

RSS, mRSS และ Atom 1.0

หาก CMS สร้างฟีด RSS หรือ Atom คุณจะส่ง URL ของฟีดเป็น Sitemap ได้ CMS ส่วนใหญ่จะสร้างฟีดให้คุณ อย่างไรก็ตาม โปรดทราบว่าฟีดนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ URL ล่าสุดเท่านั้น

หมายเหตุเพิ่มเติมเกี่ยวกับ RSS, mRSS และ Atom 1.0

  • Google รับฟีด RSS 2.0 และ Atom 1.0
  • คุณใช้ฟีด mRSS (media RSS) เพื่อส่งรายละเอียดเกี่ยวกับเนื้อหาวิดีโอในเว็บไซต์ให้ Google ได้
  • และเช่นเดียวกับไฟล์ XML ทั้งหมด ค่าของแท็กทั้งหมดต้องใช้อักขระหลีกกับเอนทิตี

Sitemap แบบข้อความ

หากต้องการระบุ URL ของหน้าเว็บเท่านั้น ให้สร้างไฟล์ข้อความทั่วไปที่มี 1 URL ต่อบรรทัด แล้วส่งไปยัง Google ตัวอย่างเช่น หากเว็บไซต์ของคุณมี 2 หน้า คุณสามารถเพิ่มหน้าเหล่านั้นลงใน Sitemap ที่เป็นไฟล์ข้อความซึ่งอยู่ที่ https://www.example.com/sitemap.txt ดังนี้

https://www.example.com/file1.html
https://www.example.com/file2.html

หมายเหตุเพิ่มเติมสําหรับ Sitemap ที่เป็นไฟล์ข้อความ

  • อย่าใส่ข้อมูลอื่นที่ไม่ใช่ URL ในไฟล์ Sitemap
  • คุณจะตั้งชื่อไฟล์ข้อความว่าอะไรก็ได้ ตราบใดที่ไฟล์นั้นมีนามสกุล .txt (เช่น sitemap.txt)

วิธีสร้าง Sitemap

เมื่อสร้าง Sitemap คุณกำลังบอกเครื่องมือค้นหาว่าต้องการแสดง URL ใดในผลการค้นหา URL เหล่านี้คือ Canonical URL หากคุณมีเนื้อหาเดียวกันซึ่งเข้าถึงได้ภายใต้ URL อื่น ให้เลือก URL ที่ต้องการและรวมไว้ใน Sitemap แทน URL ทั้งหมดที่นำไปสู่เนื้อหาเดียวกัน

เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะรวม URL ใดไว้ใน Sitemap ให้เลือกวิธีสร้างSitemap ต่อไปนี้ โดยขึ้นอยู่กับสถาปัตยกรรมเว็บไซต์และขนาดของเว็บไซต์

ให้ CMS สร้าง Sitemap สำหรับคุณ

หากคุณใช้ CMS เช่น WordPress, Wix หรือ Blogger ก็เป็นไปได้ว่า CMS ได้สร้าง Sitemap ไว้ให้เครื่องมือค้นหาแล้ว ลองค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับวิธีที่ CMS สร้าง Sitemap หรือวิธีสร้างหาก CMS ไม่ได้สร้าง Sitemap โดยอัตโนมัติ เช่น ในกรณีของ Wix ให้ค้นหา "Sitemap ของ Wix" หรือในกรณีของ Blogger ให้ค้นหา "Blogger RSS"

สร้าง Sitemap ด้วยต้วเอง

คุณอาจสร้าง Sitemap ด้วยตัวเองได้ในกรณีที่มี URL ไม่กี่สิบรายการ โดยเปิดเครื่องมือแก้ไขข้อความเช่น Windows Notepad หรือ Nano (Linux, MacOS) และทำตามไวยากรณ์ที่อธิบายในส่วนรูปแบบ Sitemap คุณจะตั้งชื่อไฟล์ว่าอะไรก็ได้ตามต้องการ ตราบใดที่ใช้อักขระที่อนุญาตให้ใช้ใน URL

คุณสร้าง Sitemap ที่ใหญ่ขึ้นด้วยตัวเองได้ แต่ก็เป็นขั้นตอนที่น่าเบื่อและดูแลรักษาในระยะยาวได้ยาก

สร้าง Sitemap ด้วยเครื่องมือโดยอัตโนมัติ

คุณจะต้องสร้าง Sitemap ในกรณีที่มี URL หลายสิบรายการ มีเครื่องมือหลายอย่างที่สร้าง Sitemap ได้ แต่วิธีที่ดีที่สุดคือการใช้ซอฟต์แวร์เว็บไซต์สร้างให้ เช่น คุณสามารถดึง URL ของเว็บไซต์ออกจากฐานข้อมูลแล้วส่งออกไปยังหน้าจอหรือไฟล์จริงในเว็บเซิร์ฟเวอร์ได้ คุยกับนักพัฒนาซอฟต์แวร์หรือผู้จัดการเซิร์ฟเวอร์เกี่ยวกับโซลูชันนี้ หากต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับโค้ด ลองดูคอลเล็กชันเก่าซึ่งไม่ได้มีการดูแลแล้วของโปรแกรมสร้าง Sitemap ของบุคคลที่สาม

คุณไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องลำดับของ URL ใน Sitemap เพราะนั่นไม่สำคัญสำหรับ Google แต่โปรดทำตามข้อกำหนดด้านขนาดสำหรับ Sitemap หาก Sitemap มีขนาดใหญ่เกินไป คุณต้องแยกออกเป็น Sitemap ขนาดเล็กลง ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการ Sitemap ขนาดใหญ่

ส่ง Sitemap ไปยัง Google

โปรดทราบว่าการส่ง Sitemap เป็นเพียงคำแนะนําเท่านั้น ซึ่งไม่ได้รับประกันว่า Google จะดาวน์โหลดหรือใช้ Sitemap เพื่อทำการ Crawl URL ในเว็บไซต์ การทำให้ Sitemap พร้อมใช้งานสำหรับ Google มีหลายวิธีดังนี้

  • ส่ง Sitemap ใน Search Console โดยใช้รายงาน Sitemap ซึ่งจะช่วยให้คุณเห็นว่า Googlebot เข้าถึง Sitemap ตอนไหน รวมถึงเห็นข้อผิดพลาดในการประมวลผลที่อาจเกิดขึ้น
  • ใช้ Search Console API เพื่อส่ง Sitemap แบบเป็นโปรแกรม
  • ใส่บรรทัดต่อไปนี้ไว้ที่ใดก็ได้ในไฟล์ robots.txt โดยระบุเส้นทางไปยัง Sitemap เราจะเห็นเส้นทางไปยัง Sitemap เมื่อรวบรวมข้อมูลไฟล์ robots.txt ในครั้งถัดไป
    Sitemap: https://example.com/my_sitemap.xml
  • หากใช้ Atom หรือ RSS คุณสามารถใช้ WebSub เพื่อเผยแพร่การเปลี่ยนแปลงไปยังเครื่องมือค้นหา ซึ่งรวมถึง Google ด้วย

วิธีส่ง Sitemap หลายเว็บไซต์

หากมีหลายเว็บไซต์ คุณทําให้ขั้นตอนการส่งง่ายขึ้นได้โดยสร้าง Sitemap อย่างน้อย 1 รายการที่มี URL สําหรับเว็บไซต์ที่ยืนยันแล้วทั้งหมด และบันทึก Sitemap นั้นไว้ในที่เดียว ทั้งนี้คุณจะเลือกใช้ได้ดังนี้

  • Sitemap รายการเดียวที่มี URL สำหรับหลายเว็บไซต์ ซึ่งรวมถึงเว็บไซต์จากโดเมนที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น Sitemap ซึ่งอยู่ที่ https://host1.example.com/sitemap.xml จะมี URL ดังต่อไปนี้ได้
    • https://host1.example.com
    • https://host2.example.com
    • https://host3.example.com
    • https://host1.example1.com
    • https://host1.example.ch
  • Sitemap แต่ละรายการ (1 รายการสำหรับแต่ละเว็บไซต์) ซึ่งล้วนอยู่ในตำแหน่งเดียว
    • https://host1.example.com/host1-example-sitemap.xml
    • https://host1.example.com/host2-example-sitemap.xml
    • https://host1.example.com/host3-example-sitemap.xml
    • https://host1.example.com/host1-example1-sitemap.xml
    • https://host1.example.com/host1-example-ch-sitemap.xml

หากต้องการส่ง Sitemap หลายเว็บไซต์ที่โฮสต์ในตําแหน่งเดียว คุณจะใช้ Search Console หรือ robots.txt ก็ได้

การส่ง Sitemap หลายเว็บไซต์ด้วย Search Console

  1. ตรวจสอบว่าคุณได้ยืนยันการเป็นเจ้าของเว็บไซต์ทั้งหมดที่จะเพิ่มใน Sitemap แล้ว
  2. สร้าง Sitemap (กี่รายการก็ได้ตามต้องการ) ที่มี URL จากเว็บไซต์ทั้งหมดที่คุณต้องการให้ครอบคลุม คุณสามารถรวม Sitemap หลายรายการไว้ในไฟล์ดัชนี Sitemap ได้หากต้องการ และทํางานกับดัชนี Sitemap นั้นได้โดยเริ่มจากตรงนี้
  3. ใช้ Google Search Console ในการส่ง Sitemap หรือไฟล์ดัชนี Sitemap

การส่ง Sitemap หลายเว็บไซต์ด้วย robots.txt

  1. สร้าง Sitemap 1 รายการหรือมากกว่านั้นสําหรับแต่ละเว็บไซต์ สําหรับไฟล์ Sitemap แต่ละไฟล์ โปรดตรวจสอบว่าคุณใส่ URL จากเว็บไซต์ดังกล่าวเท่านั้น
  2. อัปโหลด Sitemap ทั้งหมดไปยังเว็บไซต์เดียวที่คุณควบคุมได้ ตัวอย่างเช่น https://sitemaps.example.com
  3. สําหรับแต่ละเว็บไซต์ โปรดตรวจสอบว่าไฟล์ robots.txt อ้างอิง Sitemap ของเว็บไซต์นั้นๆ ตัวอย่างเช่น หากคุณสร้าง Sitemap สำหรับ https://example.com/ และคุณโฮสต์ Sitemap ที่ https://sitemaps.example.com/sitemap-example-com.xml ให้อ้างอิง Sitemap ในไฟล์ robots.txt ที่ https://example.com/robots.txt ด้วย
    # robots.txt file of https://example.com/
    sitemap: https://sitemaps.example.com/sitemap-example-com.xml

การแก้ปัญหา Sitemap

คุณแก้ปัญหา Sitemap ได้ด้วย Google Search Console ดูคู่มือการแก้ปัญหา Sitemap เพื่อรับความช่วยเหลือ