ควบคุมตัวอย่างข้อมูลในผลการค้นหา
ตัวอย่างข้อมูลคือคำอธิบายหรือส่วนสรุปของผลการค้นหาใน Google Search และพร็อพเพอร์ตี้อื่นๆ (เช่น Google News) Google จะใช้เนื้อหาในหน้าเป็นหลักเพื่อกำหนดตัวอย่างข้อมูลที่เหมาะสมโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ เรายังอาจใช้ข้อมูลรายละเอียดในองค์ประกอบคำอธิบายเมตาเมื่ออธิบายหน้าเว็บได้ดีกว่าส่วนอื่นๆ ของเนื้อหา
แม้ว่าเราจะเปลี่ยนตัวอย่างข้อมูลของเว็บไซต์แต่ละแห่งด้วยตนเองไม่ได้ แต่ก็มุ่งมั่นที่จะทำให้ตัวอย่างข้อมูลเหล่านั้นมีความเกี่ยวข้องมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้อยู่เสมอ คุณช่วยปรับปรุงคุณภาพของตัวอย่างข้อมูลที่แสดงสำหรับหน้าเว็บได้โดยทำตามแนวทางปฏิบัติแนะนำในการสร้างคำอธิบายเมตาที่มีคุณภาพ
ตัวอย่างข้อมูลสร้างขึ้นมาอย่างไร
ตัวอย่างข้อมูลจะสร้างขึ้นโดยอัตโนมัติจากเนื้อหาของหน้าเว็บ ตัวอย่างข้อมูลออกแบบมาเพื่อเน้นและแสดงตัวอย่างเนื้อหาของหน้าที่เกี่ยวข้องกับการค้นหาเฉพาะของผู้ใช้มากที่สุด ซึ่งหมายความว่า Google Search อาจแสดงตัวอย่างข้อมูลที่แตกต่างกันสำหรับการค้นหาที่แตกต่างกัน
ตัวอย่างข้อมูลสร้างขึ้นจากเนื้อหาของหน้าเว็บเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม บางครั้ง Google ใช้องค์ประกอบ HTML คำอธิบายเมตาในกรณีที่อาจทำให้ผู้ใช้ได้รับคำอธิบายหน้าเว็บที่ถูกต้องมากกว่าเนื้อหาที่นำมาจากหน้าเว็บโดยตรง
วิธีป้องกันตัวอย่างข้อมูลหรือปรับความยาวของตัวอย่างข้อมูล
คุณสามารถป้องกันไม่ให้มีการสร้างและแสดงตัวอย่างข้อมูลเว็บไซต์ในผลการค้นหา หรือบอกให้ Google ทราบความยาวสูงสุดที่คุณต้องการสำหรับตัวอย่างข้อมูลได้
หากไม่ต้องการให้ Google แสดงตัวอย่างข้อมูลของหน้าเว็บในผลการค้นหา ให้ใช้เมตาแท็ก nosnippet
หากต้องการระบุความยาวสูงสุดของตัวอย่างข้อมูล ให้ใช้แท็ก meta
max-snippet:[number]
นอกจากนี้ คุณยังป้องกันไม่ให้บางส่วนของหน้าเว็บแสดงในตัวอย่างข้อมูลได้โดยใช้แอตทริบิวต์ data-nosnippet
แนวทางปฏิบัติแนะนําในการสร้างคำอธิบายเมตาที่มีคุณภาพ
บางครั้ง Google จะใช้แท็ก <meta name="description">
จากหน้าเว็บเพื่อสร้างตัวอย่างข้อมูลในผลการค้นหา หากเราคิดว่าผู้ใช้จะได้รับคำอธิบายที่ถูกต้องแม่นยำมากกว่าที่จะได้รับจากเนื้อหาในหน้าเว็บแต่เพียงอย่างเดียว โดยทั่วไปแท็กคำอธิบายเมตาจะให้ข้อมูลและดึงดูดความสนใจของผู้ใช้ด้วยสรุปที่เกี่ยวข้องสั้นๆ ว่าหน้าเว็บนั้นๆ เกี่ยวกับอะไร คำอธิบายนี้เป็นเหมือนการเสนอขายเพื่อโน้มน้าวผู้ใช้ว่าหน้านี้คือหน้าที่พวกเขาต้องการ เราไม่จำกัดความยาวของคำอธิบายเมตา แต่ตัวอย่างข้อมูลจะถูกตัดในผลการค้นหาของ Google Search ซึ่งโดยปกติแล้วเพื่อให้พอดีกับความกว้างของหน้าจออุปกรณ์
สร้างคําอธิบายที่ไม่ซ้ำสำหรับแต่ละหน้าในเว็บไซต์
หากเว็บไซต์มีคำอธิบายที่เหมือนกันหรือคล้ายกันทุกหน้า ก็จะไม่มีประโยชน์เวลาที่แต่ละหน้าปรากฏในผลการค้นหา หากเป็นไปได้ ให้สร้างคำอธิบายที่อธิบายหน้าเว็บนั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง ใช้รายละเอียดที่ระดับเว็บไซต์ในหน้าแรกหลักหรือหน้ารวบรวมข้อมูลอื่นๆ และใช้คำอธิบายที่ระดับหน้าเว็บในหน้าอื่นๆ ทั้งหมด หากคุณไม่มีเวลาสร้างคำอธิบายสำหรับหน้าเว็บแต่ละหน้า ลองจัดลำดับความสำคัญของเนื้อหา โดยอย่างน้อยที่สุดให้สร้างคำอธิบายสำหรับ URL ที่สำคัญ เช่น หน้าแรกและหน้าที่ได้รับความนิยม
ใส่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในคําอธิบาย
คำอธิบายเมตาไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบประโยคเท่านั้น หากยังสามารถใส่ข้อมูลเกี่ยวกับหน้าเว็บในส่วนนี้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น การโพสต์ข่าวหรือบล็อกอาจระบุผู้เขียน วันที่เผยแพร่ หรือข้อมูลชื่อผู้จัดทำ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่อาจเข้ามาชมได้รับข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องมาก ซึ่งอาจไม่ได้แสดงอยู่ในตัวอย่าง ในทำนองเดียวกัน หน้าผลิตภัณฑ์อาจมีข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ราคา อายุ ผู้ผลิต ซึ่งกระจายอยู่ทั่วทั้งหน้า คำอธิบายเมตาที่ดีควรจะรวมข้อมูลทั้งหมดนี้เข้าด้วยกันได้
ตัวอย่างเช่น คำอธิบายเมตาต่อไปนี้ให้ข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับหนังสือเล่มหนึ่ง และมีการแท็กและแยกข้อมูลไว้อย่างชัดเจน ดังนี้
<meta name="description" content="เขียนโดย A.N. Author ภาพประกอบโดย V. Gogh ราคา: 500 บาท ความยาว: 784 หน้า">
สร้างคำอธิบายโดยใช้โปรแกรม
สำหรับเว็บไซต์บางแห่ง เช่น แหล่งของสื่อด้านข่าวสาร การสร้างคำอธิบายที่ถูกต้องและแตกต่างสำหรับหน้าเว็บแต่ละหน้านั้นทำได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากบทความแต่ละเรื่องเขียนขึ้นเองโดยผู้เขียน การเพิ่มคำอธิบายอีก 1 ประโยคจึงเป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยากอะไรเลย แต่ถ้าเป็นเว็บไซต์ที่ใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เช่น เว็บไซต์รวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์ การเขียนคำอธิบายด้วยตนเองก็อาจเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีหลังนี้ เราขอแนะนำให้ใช้การสร้างคำอธิบายโดยใช้โปรแกรมจึงจะเหมาะสม คำอธิบายที่ดีต้องเป็นภาษาที่มนุษย์อ่านออกและมีหลายรูปแบบ ข้อมูลเฉพาะหน้าเว็บเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการสร้างคำอธิบายโดยใช้โปรแกรม
หากคำอธิบายเมตามีแต่คีย์เวิร์ดเรียงกันยาวๆ นอกจากจะไม่ช่วยให้ผู้ใช้เข้าใจเนื้อหาในหน้าเว็บแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะไม่แสดงในตำแหน่งตัวอย่างข้อมูลด้วย
ใช้คำอธิบายที่มีคุณภาพ
ตรวจสอบว่าคำอธิบายของคุณสื่อความหมายอย่างแท้จริง เนื่องจากคำอธิบายเมตาไม่ได้แสดงอยู่ในหน้าเว็บที่ผู้ใช้มองเห็น คุณก็เลยอาจมองข้ามเนื้อหานี้ไปได้ง่ายๆ แต่คำอธิบายที่มีคุณภาพสูงอาจแสดงอยู่ในผลการค้นหาของ Google และอาจเป็นตัวช่วยสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพและปริมาณการค้นหาของคุณอีกด้วย
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างวิธีปรับปรุงคําอธิบายเมตา
ไม่ดี (มีแต่รายการคีย์เวิร์ด):
<meta name="description" content="อุปกรณ์เย็บผ้า ไหมพรม ดินสอสี จักรเย็บผ้า ด้าย กระสวย เข็ม">
ดีกว่า (อธิบายว่าร้านค้าขายอะไร และใส่รายละเอียดอย่างเช่นเวลาทําการและสถานที่ตั้ง)
<meta name="description" content="มีทุกสิ่งที่คุณต้องใช้ในการตัดเย็บเสื้อผ้าชิ้นต่อไป เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08:00 น. - 17:00 น. ตั้งอยู่ในย่านแฟชั่น">
ไม่ดี (ใช้คําอธิบายเดียวกันสำหรับทุกบทความข่าว):
<meta name="description" content="ข่าวท้องถิ่นใน Whoville ส่งตรงถึงหน้าบ้านคุณ ดูว่าวันนี้มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง">
ดีกว่า (ใช้ข้อมูลตัวอย่างจากบทความข่าวที่เจาะจง)
<meta name="description" content="ชายชราที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นย่องขโมยของขวัญของทุกคนในช่วงคืนก่อนวันสําคัญ สร้างความไม่พอใจให้กับชาวเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งใน Whoville โปรดติดตามข้อมูลอัปเดตแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว">
ไม่ดี (ไม่สรุปข้อมูลในหน้า):
<meta name="description" content="ไข่เป็นแหล่งสร้างความสุขในชีวิตของทุกคน ตอนฉันยังเป็นเด็กน้อย ฉันจําได้ว่าไปซื้อไข่จากบ้านไก่และนํามาทำอาหาร วันคืนเหล่านั้นช่างมีความหมาย">
ดีกว่า (สรุปข้อมูลในหน้า)
<meta name="description" content="ศึกษาวิธีทําอาหารจานไข่พร้อมคําแนะนําทุกขั้นตอนในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง เรามีครบทุกเมนูเริ่มตั้งแต่ไข่ดาว ไข่ต้ม และไข่ดาวน้ำ">
ไม่ดี (สั้นเกินไป):
<meta name="description" content="ดินสอกด">
ดีกว่า (เจาะจงและมีรายละเอียด):
<meta name="description" content="ดินสอกดเหลาปลายแหลมออโต้ ช่วยปรับปรุงลายมือของคุณให้ดีขึ้น พร้อมไส้ดินสอ 2B แบบใส่เพิ่มอัตโนมัติ มีให้เลือกทั้งแบบสีชมพูวินเทจและสีเหลืองรถโรงเรียน จัดส่งฟรีเมื่อสั่งซื้อดินสอ 50 แท่งขึ้นไป">