การออกแบบโครงสร้าง URL สำหรับเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ

URL ที่ออกแบบมาอย่างดีจะช่วยให้ Google ค้นหาและเรียกหน้าเว็บในเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากคุณเป็นผู้ควบคุมโครงสร้างของ URL (เช่น กำลังสร้างเว็บไซต์ของตัวเองขึ้นใหม่ทั้งหมด) คู่มือนี้จะช่วยให้คุณตัดสินใจเลือกโครงสร้าง URL เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจัดทําดัชนีที่ Google เห็นในเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ

เหตุใดโครงสร้าง URL จึงมีความสําคัญ

โครงสร้างการออกแบบ URL ที่ดีช่วยให้ Google รวบรวมข้อมูลและจัดทําดัชนีเว็บไซต์ได้ ในขณะที่โครงสร้าง URL ที่ไม่ดีอาจทําให้เกิดปัญหาต่อไปนี้

  • เนื้อหาอาจตกหล่นหาก Googlebot เข้าใจผิดว่า URL 2 รายการจะแสดงเนื้อหาเดียวกัน เนื่องจากโปรแกรมรวบรวมข้อมูลอาจดึงข้อมูล URL เพียง 1 รายการเท่านั้น (ทิ้ง URL อีกรายการเพราะคิดว่าซ้ำกัน) กรณีนี้อาจเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้ตัวระบุส่วนย่อย (เช่น #fragment) เพื่อแสดงเนื้อหาอื่น Google จะไม่ใช้ตัวระบุส่วนย่อยในการจัดทําดัชนี

    ตัวอย่าง: Google ถือว่า /product/t-shirt#black และ /product/t-shirt#white เป็นหน้าเดียวกัน

  • โปรแกรมรวบรวมข้อมูลอาจดึงเนื้อหาเดียวกันขึ้นมาหลายครั้งหาก Google คิดว่า URL 2 รายการต่างกัน แต่แสดงหน้าเว็บเดียวกัน ปัญหานี้อาจทําให้การรวบรวมข้อมูลเว็บไซต์ช้าลงและเว็บเซิร์ฟเวอร์ทำงานหนักขึ้นโดยไม่เกิดประโยชน์

    ตัวอย่าง: /product/black-t-shirt และ /product?sku=1234 อาจแสดงหน้าผลิตภัณฑ์เดียวกัน แต่ Google ระบุจาก URL เพียงอย่างเดียวไม่ได้

  • โปรแกรมรวบรวมข้อมูลอาจคิดว่าเว็บไซต์มีจำนวนหน้าเว็บไม่สิ้นสุดหาก URL มีค่าที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เช่น การประทับเวลา ซึ่งอาจส่งผลให้ Google ใช้เวลานานขึ้นในการค้นหาเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ทั้งหมดในเว็บไซต์

    ตัวอย่าง: Google อาจถือว่า /about?now=12:34am และ /about?now=12:35am เป็น URL ที่ต่างกัน ถึงแม้ว่า URL ทั้งสองจะแสดงหน้าเดียวกันก็ตาม

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีที่ Google รวบรวมข้อมูลและจัดทําดัชนีเว็บไซต์ได้จากวิธีการทำงานของ Google Search และวิธีที่โปรแกรมรวบรวมข้อมูลเว็บไซต์ของ Google จัดทําดัชนีเว็บไซต์

แนวทางปฏิบัติแนะนำสำหรับการออกแบบโครงสร้าง URL ที่ดี

ทําตามแนวทางปฏิบัติแนะนําต่อไปนี้เกี่ยวกับวิธีจัดโครงสร้าง URL เพื่อให้ Google รวบรวมข้อมูลและจัดทําดัชนีเว็บไซต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

คําแนะนำทั่วไปเกี่ยวกับ URL

  • ลดจำนวน URL ทางเลือกที่แสดงเนื้อหาเดียวกันเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ Google ส่งคําขอไปยังเว็บไซต์มากกว่าที่จำเป็น Google อาจไม่ทราบว่า URL 2 รายการแสดงหน้าเดียวกันจนกว่าจะมีการดึงข้อมูล URL ทั้งสอง
  • หากเว็บเซิร์ฟเวอร์ถือว่าข้อความตัวพิมพ์ใหญ่และตัวพิมพ์เล็กใน URL เป็นข้อความเดียวกัน ให้แปลงข้อความทั้งหมดเป็นตัวพิมพ์แบบเดียวกันเพื่อให้ Google ระบุว่า URL เหล่านั้นอ้างอิงหน้าเดียวกันได้ง่ายขึ้น
  • ตรวจดูว่าแต่ละหน้าในผลการค้นหาที่ใส่เลขหน้ามี URL ไม่ซ้ำกัน เราพบข้อผิดพลาดเกี่ยวกับ URL ส่วนใหญ่ในโครงสร้าง URL การใส่เลขหน้า
  • เพิ่มคําที่สื่อความหมายในเส้นทาง URL คําใน URL อาจช่วยให้ Google เข้าใจหน้าเว็บได้ดีขึ้น

    แนะนำ: /product/black-t-shirt-with-a-white-collar

    ไม่แนะนำ: /product/3243

คําแนะนําเกี่ยวกับพารามิเตอร์การค้นหาของ URL

ทําตามคําแนะนําต่อไปนี้เมื่อใช้พารามิเตอร์การค้นหาเพื่อช่วยให้ Google รวบรวมข้อมูลและจัดทําดัชนีเว็บไซต์ได้สําเร็จ

  • ใช้พารามิเตอร์ของ URL ?key=value แทน ?value หากทำได้ พารามิเตอร์ของ URL ช่วยให้ Google Search เข้าใจโครงสร้างของเว็บไซต์ ตลอดจนรวบรวมข้อมูลและจัดทําดัชนีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    แนะนำ: /photo-frames?page=2, /t-shirt?color=green

    ไม่แนะนำ: /photo-frames?2, /t-shirt?green

  • หลีกเลี่ยงการใช้พารามิเตอร์เดียวกัน 2 ครั้ง เนื่องจาก Googlebot อาจละเว้นค่าใดค่าหนึ่ง

    แนะนำ: ?type=candy,sweet

    ไม่แนะนำ: ?type=candy&type=sweet

  • หลีกเลี่ยงการลิงก์ภายในไปยังพารามิเตอร์ชั่วคราว เช่น รหัสเซสชัน โค้ดติดตาม ค่าที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้ (location=nearby, time=last-week) และเวลาปัจจุบัน เนื่องจากอาจทำให้เกิด URL ที่มีอายุการใช้งานสั้นหรือ URL ซ้ำสําหรับหน้าเดียวกัน ขอให้ใช้ URL ถาวรที่มีอายุการใช้งานระยะยาวเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจาก Google Search

    แนะนำ: /t-shirt?location=UK

    ไม่แนะนำ: /t-shirt?location=nearby, /t-shirt?current-time=12:02, /t-shirt?session=123123123

วิธีที่ Google เข้าใจ URL ของผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียง

ข้อควรพิจารณาทั่วไปเกี่ยวกับเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซคือวิธีจัดโครงสร้าง URL เมื่อผลิตภัณฑ์พร้อมจําหน่ายหลายขนาดหรือหลายสี ผลิตภัณฑ์ที่มีแอตทริบิวต์ต่างกันบางส่วนจะเรียกว่าผลิตภัณฑ์ย่อย Google รองรับโครงสร้าง URL ที่หลากหลายสําหรับแสดงผลิตภัณฑ์ย่อย

หากคุณเลือกที่จะใส่ผลิตภัณฑ์ย่อยหลายรายการไว้ในหน้าเดียว (ผลิตภัณฑ์ย่อยทุกรายการใช้ URL เดียวกัน) อย่าลืมคํานึงถึงข้อจํากัดต่อไปนี้

  • หน้าเว็บอาจไม่มีสิทธิ์แสดงเป็นผลการค้นหาที่เป็นสื่อสมบูรณ์ของผลิตภัณฑ์ในผลการค้นหา เนื่องจากผลการค้นหาประเภทนี้รองรับหน้าเว็บที่มีผลิตภัณฑ์เดียวเท่านั้น (และ Google Search อาจถือว่าผลิตภัณฑ์ย่อยเป็นผลิตภัณฑ์อื่น)
  • ประสบการณ์การใช้งานอย่างเช่น Google Shopping ไม่สามารถนําผู้ใช้ไปยังผลิตภัณฑ์ย่อยของผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ ในเว็บไซต์ได้ ซึ่งทําให้ผู้ใช้ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ย่อยที่ต้องการซื้อในเว็บไซต์ก่อนชําระเงิน ข้อจำกัดนี้อาจทําให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ไม่ดีหากเลือกผลิตภัณฑ์ย่อยที่ต้องการไว้แล้วใน Google Shopping

หากคุณจะใช้ URL แยกสำหรับผลิตภัณฑ์ย่อยแต่ละรายการ Google ขอแนะนําให้ใช้วิธีใดวิธีหนึ่งต่อไปนี้

  • กลุ่มเส้นทาง เช่น /t-shirt/green
  • พารามิเตอร์การค้นหา เช่น /t-shirt?color=green

เลือก URL ของผลิตภัณฑ์ย่อยรายการหนึ่งเป็น Canonical URL สําหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อช่วยให้ Google ทราบว่าควรแสดงผลิตภัณฑ์ย่อยรายการใดใน Search โปรดทราบว่าตัวอย่างข้อมูลผลิตภัณฑ์จะใช้รายละเอียดผลิตภัณฑ์ของ Canonical URL เช่น ราคาและความพร้อมจําหน่ายสินค้า

หากใช้พารามิเตอร์การค้นหาที่ไม่บังคับเพื่อระบุผลิตภัณฑ์ย่อย ให้ใช้ URL ที่ละเว้นพารามิเตอร์การค้นหาเป็น Canonical URL ซึ่งจะช่วยให้ Google เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างผลิตภัณฑ์ย่อยได้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น หากค่าเริ่มต้นของพารามิเตอร์การค้นหา color สําหรับเสื้อยืดคือ blue ให้ทําดังนี้

  • ใช้ /t-shirt เป็น Canonical URL สําหรับผลิตภัณฑ์ย่อยทั้งหมดของเสื้อยืด
  • สําหรับเสื้อสีน้ำเงิน ให้ใช้ /t-shirt (ไม่ใช่ /t-shirt?color=blue)
  • สําหรับเสื้อสีเขียว ให้ใช้ /t-shirt?color=green
เสื้อยืดสีน้ำเงินที่เป็น Canonical และไม่มีพารามิเตอร์การค้นหาสี และเสื้อยืดสีเขียวที่ไม่ได้เป็น Canonical และมีพารามิเตอร์การค้นหาสีระบุไว้

การใช้ URL ในเนื้อหา

ทําตามแนวทางปฏิบัติแนะนําต่อไปนี้เมื่อใช้ URL ในเนื้อหาเพื่อช่วยให้ Google Search และ Google Shopping ระบุผลิตภัณฑ์และความสัมพันธ์ระหว่างผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงได้อย่างถูกต้อง

  • ใช้ URL เดียวกันในลิงก์ภายใน ไฟล์แผนผังเว็บไซต์ และแท็ก <link rel="canonical"> ตัวอย่างเช่น หากลิงก์ไปยังหน้าแรกของหน้าเว็บชุดหนึ่งที่ใส่เลขหน้าโดยใช้พารามิเตอร์การค้นหาโดยที่หน้าเริ่มต้นเป็นหน้าแรก ก็ให้รวมหรือยกเว้น ?page=1 ใน URL ทั้งหมดของเว็บไซต์อย่างสม่ำเสมอ
  • ใช้แท็ก <link rel="canonical"> ที่อ้างถึงตนเอง (URL ในแท็กชี้ไปที่หน้าปัจจุบัน) ในหน้าเว็บทุกหน้าที่จัดทําดัชนีได้และรวม URL เหล่านั้นไว้ในไฟล์แผนผังเว็บไซต์
  • สําหรับผลิตภัณฑ์ที่มี URL ที่ไม่ซ้ำกันต่อผลิตภัณฑ์ย่อยแต่ละรายการ ให้ใส่ Canonical URL ของผลิตภัณฑ์ในหน้าผลิตภัณฑ์ย่อยทุกหน้าโดยใช้แท็ก <link rel="canonical"> ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่พร็อพเพอร์ตี้ canonical_link ของ Google Merchant Center
  • ใส่ลิงก์ต่างๆ ไว้ในหน้าเว็บโดยตรงโดยใช้แท็ก <a href> อย่าใช้ JavaScript เพื่อไปยังหน้าต่างๆ Googlebot อาจไม่พบการนําทางจากโค้ด JavaScript ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีที่ Google ประมวลผล JavaScript ได้ที่ทำความเข้าใจหลักการพื้นฐานของ JavaScript SEO
  • ใส่ข้อความที่มีความหมายไว้ระหว่างแท็ก <a href> และ </a> หากทําได้ เช่น ชื่อผลิตภัณฑ์ที่ลิงก์อยู่ อย่าใช้วลีทั่วไป เช่น "คลิกที่นี่"
  • หลีกเลี่ยงการลิงก์ไปยัง (หรือการจัดทำดัชนี) หน้าเว็บที่ไม่มีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ หากหมวดหมู่ใดไม่มีสินค้า ให้ใช้แท็ก meta noindex ของ robots หากเว็บไซต์ตรวจพบว่าหมวดหมู่ว่างเปล่าและนําหมวดหมู่นั้นออกจากการค้นหาและการเรียกดูในเว็บไซต์โดยอัตโนมัติ ให้พิจารณาแสดงรหัสสถานะ HTTP 404 (not found) สำหรับหน้าเว็บ

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ลองไปที่แหล่งข้อมูลต่อไปนี้